ชาวบ้าน และพ่อค้าแม่ค้าที่เคยนำสินค้าอุปโภคบริโภค ไปขายที่จุดผ่อนปรน "ช่องสายตะกู" อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ต่างได้รับผลกระทบจากการปิดช่องสายตะกูไม่มีกำหนด ทำให้ขาดรายได้ หลายคนก็เริ่มปรับตัวขายหน้าบ้านตัวเองแม้ยอดขายจะลดจากวันละ 4-5 หมื่น เหลือ 1-2 พัน แต่ก็ต้องปรับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอด อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งหาทางออกปัญหาพิพาทไทย-กัมพูชาให้จบโดยเร็ว
หลังจากที่พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เซ็นหนังสือคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยไม่กำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.68 จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งควบคุมวันเวลาเปิด-ปิดจุดผ่อนปรนช่องสายตะกูจากสัปดาห์ละ 7 วัน เหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 วัน คือ วันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี เวลา 09.00 – 12.00 น. แต่สถานการณ์ชายแดนก็ยังตึงเครียด จนล่าสุดมีคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู เพื่อยกระดับปกป้องอธิปไตยของไทย
ล่าสุดวันนี้ (22 มิ.ย.68) ทีมข่าวได้ลงพื้นที่บริเวณจุดผ่อนปรน ช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด พบว่าได้มีการปิดประตูด่านพรมแดน ข้ามบุคคลใดเข้า-ออก มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลความเรียบร้อยประจำด่านเท่านั้น
จากนั้นทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศในหมู่บ้าน ก็พบว่า พ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านหลายคน ที่เคยนำสินค้าอุปโภคบริโภค และผลผลิตทางการเกษตร ไปขายที่จุดผ่อนปรนช่องสายตะกู ก็เริ่มปรับตัวหันมาตั้งโต๊ะขายหน้าบ้านของตัวเองให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน และผู้คนที่ผ่านไปมา แม้จะขายไม่ค่อยดีเหมือนที่จุดผ่อนปรนช่องสายตะกู แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อความอยู่รอด
โดยพ่อค้าแม่ค้า ก็ยอมรับว่า การสั่งปิดด่านก็ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะหากขายช่องสายตะกูจะมีรายได้หลักหมื่น โดยเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งมีตลาดนัดที่ช่องสายตะกูด้วยก็จะมีรายได้ถึง 4 – 5 หมื่นบาท แต่พอเกิดปัญหาพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ก็ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมีคำสั่งปิดด่าน ก็ยิ่งเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก
นางอัญณิกา สะอิ้งรัมย์ อายุ58 ปี ชาวบ้านสายโท 6 ใต้ บอกว่า ตนมีอาชีพขายอาหารทะเล และผลไม้ที่จุดผ่อนปรนช่องสายตะกูมาเกือบ 10 ปีแล้ว ช่วงที่เปิดปกติยังไม่มีปัญหาพิพาทกันจะขายได้วันละ 4 – 5 หมื่นบาท ส่วนมากจะเป็นชาวกัมพูชาข้ามมาซื้อ แต่หลังจากเกิดปัญหาพิพาทกัน มีมาตรการควบคุมวันเวลาเปิด-ปิดด่าน ยอดขายก็ลดลงเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุดมีคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนช่องสายตะกู ก็ยอมรับว่ากระทบเพราะไม่สามารถไปขายสินค้าได้ จึงได้ปรับตัวด้วยการหันมาขายหมูปิ้ง และไก่ย่างที่หน้าบ้านของตัวเอง แม้รายได้จะลดลงหลายเท่าตัวเหลือวันละ 1-2 พันบาทรวมต้นทุน แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว หากเป็นไปได้ก็อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เร่งหาทางออกยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถค้าขายได้เป็นปกติเหมือนเดิม.
Contact to : xlf550402@gmail.com
Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.