หลังปี 2022 “อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” (Amazon Web Services : AWS) หนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ของโลก ประกาศตั้ง “AWS Region” หรือศูนย์ข้อมูลเต็มรูปแบบในไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.7 แสนล้านบาท) ภายใน 15 ปี ก็ได้ฤกษ์เปิดใช้ “AWS Asia Pacific (Thailand) Region” เป็นทางการ เมื่อ 8 ม.ค. 2025

นับเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในประเทศ และการเข้าสู่ปีที่ 10 ของ AWS ประเทศไทย

10 ปี AWS ประเทศไทย

“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย AWS ฉายภาพให้เห็นถึงการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยของ AWS ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ว่าเข้ามาตั้งสำนักงานในไทยปี 2015 มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงแรกเป็นเรื่องการพัฒนาระบบที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการคลาวด์ได้สะดวกขึ้น

ในปี 2019 มีการแปลบริการต่าง ๆ ให้เป็นภาษาไทย และปี 2020 เริ่มให้บริการ AWS Outpost มี บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นองค์กรแรก ๆ ที่ใช้งาน ต่อมาในปี 2021 เริ่มให้บริการ Amazon Connect ทำให้บริการต่าง ๆ รองรับการใช้งานภาษาไทยมากขึ้น

กระทั่งเดือน ก.พ. 2022 ประกาศตั้ง AWS Bangkok Local Zones เพื่ออำนวยความสะดวกให้องค์กรที่ต้องการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ ก่อนเปิดให้บริการจริงเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน พร้อมกับประกาศลงทุนตั้ง AWS Asia Pacific Region ในไทย และในปี 2023 เปิดตัวโครงการฝึกอบรม re/Start Thailand สำหรับเพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับคลาวด์ และ AI ในปีถัดมา 2024 เลือกประเทศไทยจัดงาน AWS Summit เป็นครั้งแรก

“AWS ยังเดินหน้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการลงทุน AWS Region จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของไทยให้สูงขึ้น ประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.46 แสนล้านบาท และยังสนับสนุนการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกมากกว่า 11,000 ตำแหน่งต่อปี เช่น การก่อสร้าง วิศวกรรม และโทรคมนาคม เป็นต้น”

ปักธง AWS Region ในไทย

AWS Asia Pacific (Thailand) Region เป็น AWS Region แห่งที่ 4 ที่มีการเปิดใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้ปัจจุบัน AWS มี Availability Zone (AZ) รวม 111 แห่ง ใน 35 AWS Region ทั่วโลก

“ที่ผ่านมา เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ดาต้าเซ็นเตอร์มาตลอด เพราะการมาเป็น Region มีความหมายมากกว่านั้น โดยต้องมี AZ อย่างน้อย 3 แห่ง เพื่อสำรองข้อมูลเวลาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่ง AZ แต่ละแห่งจะมีหน่วยย่อยของดาต้าเซ็นเตอร์อีกมากมาย”

สำหรับ AWS Asia Pacific (Thailand) Region มี AZ ทั้งหมด 3 แห่ง ตั้งแยกกันตามความเหมาะสมของพื้นที่ภูมิศาสตร์ และการให้บริการด้วยความหน่วงต่ำสำหรับแอปพลิเคชั่นที่ต้องการความพร้อมใช้งานสูง โดย AZ แต่ละแห่งจะมีระบบไฟฟ้า ระบบทำความเย็น และระบบรักษาความปลอดภัยที่แยกจากกัน โดยจะเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายที่มีความหน่วงต่ำและระบบสำรองหลายชั้น

“มูลค่าการลงทุนคร่าว ๆ ในแต่ละปีเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ระบุไว้ แต่บางช่วงอาจมากกว่า เพราะต้องลงทุนเรื่องการก่อสร้าง และอุปกรณ์ชุดใหม่ตามรอบอายุการใช้งาน หรืออัพเดตเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมากขึ้น”

ย้ายเวิร์กโหลดฟรี

“วัตสัน” กล่าวต่อว่า ปัจจุบันลูกค้ากว่า 80-90% ของ AWS ประเทศไทย ยังรันแอปพลิเคชั่นและใช้เวิร์กโหลดบน Region ในสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าความหน่วง (Latency) ในการส่งข้อมูลประมาณ 20 มิลลิวินาที แต่เมื่อมีการให้บริการ Region ในไทย ก็เริ่มมีสัญญาณจากลูกค้าหลายรายว่าต้องการย้ายเวิร์กโหลดกลับมาที่ไทย เช่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องใช้ระบบ ERP ในประเทศเท่านั้น

“เรื่องการย้ายเวิร์กโหลด เราไม่บังคับลูกค้า เนื่องจากตั้งแต่เริ่มให้บริการลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะเอาข้อมูลไปไว้บน Region ของประเทศไหน ถ้าลูกค้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องค่าความหน่วง หรือการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ จะใช้เวิร์กโหลดบน Region ในสิงคโปร์เหมือนเดิมก็ได้ เพราะการย้ายเวิร์กโหลดกลับมาค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่ AWS จะช่วยซัพพอร์ตลูกค้าที่ต้องการย้ายเวิร์กโหลดกลับมาโดยไม่มีค่าบริการใด ๆ เพิ่มเติม”

ปัจจัยที่มีผลต่อค่าบริการ

สิ่งที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเกิดขึ้นหลัง AWS Region ในประเทศไทยเริ่มให้บริการเป็นทางการแล้ว ค่าบริการคลาวด์และโซลูชั่นต่าง ๆ น่าจะถูกกว่าปัจจุบัน ซึ่ง “วัตสัน” อธิบายว่า รายละเอียดค่าบริการจาก Region ในประเทศไทยกำลังทยอยออกมาเรื่อย ๆ แต่เรื่องการตั้งราคามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้นทุนการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค การวางระบบโทรคมนาคม การจ้างงาน และนโยบายจากภาครัฐ เป็นต้น

“ยิ่งลงทุนมาก ก็ยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการได้มากขึ้น เป็นการสร้าง Economy of Scale ที่ทำให้ต้นทุนต่อการให้บริการต่ำลง ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น นำไปสู่การตั้งราคา และค่าบริการที่ถูกลงด้วย โดยที่ผ่านมา AWS ลดค่าบริการทั่วโลกกว่า 151 ครั้ง เป็นทิศทางที่ค่อนข้างสวนทางกับผู้ให้บริการอีกหลายราย”

3 สิ่งจาก AWS Region

แม่ทัพ AWS ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า เมื่อ AWS ตัดสินใจลงทุนตั้ง Region ในประเทศใดแล้วจะมี 3 สิ่งเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ 1.การสร้างนวัตกรรม เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น 7-Eleven และรันการทำงานบนคลาวด์ 2.การยกระดับความสามารถ โดยการฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้บุคลากรในไทยกว่า 50,000 คน ตั้งแต่ปี 2017 ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น AWS Skills to Jobs Tech Alliance โครงการ AWS Training & Certification และโครงการ Tech for Digital Future

และ 3.การเร่งสร้างเครือข่าย สนับสนุนให้องค์กรทุกระดับใช้งานคลาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการเติบโต เช่น BOTNOI Group ที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ให้บริการวอยซ์บอตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว

“นอกจากพัฒนานวัตกรรม อีกสิ่งที่ AWS ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยปี 2023 AWS ประกาศว่าทุก Region ที่ให้บริการจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% แต่ถ้าประเทศไหนยังไม่มีกลไกเรื่องนี้มารองรับ เช่น ไทย ก็จะมีการชดเชยทางคาร์บอน เป็นการดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน”

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.