คาดการณ์กันว่าปี 2568 นี้ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคน กลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิดที่มีจำนวน 39.9 ล้านคน และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.98-2.23 ล้านล้านบาท
“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่เพิ่งหมดวาระเมื่อ 3 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ถึงมุมมองต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงข้อเสนอแนะสำหรับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต่อรัฐบาลและผู้ที่จะมารับหน้าที่ประธานสภาท่องเที่ยวคนต่อไป ดังนี้
“ชำนาญ” บอกว่า จากที่คลุกคลีอยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาทั้งชีวิต บวกกับที่มีโอกาสได้มานั่งเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือสภาท่องเที่ยว 2 วาระ รวม 4 ปี ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาครัฐ ทำงานด้านยุทธศาสตร์ เป็น 1 ในคณะกรรมการบริหารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (บอร์ด ททท.) รวมถึงคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ และอีกหลายหน่วยงาน ได้เห็นปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมมากมาย
แต่เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวไม่มีวันตาย เพราะการท่องเที่ยวเป็นการให้รางวัลชีวิต ยิ่งเที่ยวยิ่งเห็นโลกเยอะ ยิ่งเที่ยวยิ่งมีโอกาส ที่สำคัญประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการตอบโจทย์การท่องเที่ยวในทุกด้าน ทั้งสภาพอากาศ ทำเลที่ตั้ง การบริการ รวมถึงโรงแรมที่พักที่มีมาตรฐาน
“ผมไม่เคยมองว่าการท่องเที่ยวของไทยจะถึงจุดอิ่มตัว เพราะการท่องเที่ยวสามารถเดินทางซ้ำได้หลายรอบ การเดินทางท่องเที่ยวในเวลาที่ต่างกันก็จะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ยิ่งคนเจเนอเรชั่นใหม่ส่วนใหญ่จะมองว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว”
อดีตประธานสภาท่องเที่ยวยังบอกด้วยว่า Pain Point หรือปัญหาภาคการท่องเที่ยวคือ คนมักพูดว่าคนท่องเที่ยวทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การเชิญชวนเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากเกินไป จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเสียหาย
พร้อมย้อนความให้ฟังว่า สภาท่องเที่ยวได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการ Re-design ในทุกมิติไปตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน
กล่าวคือ การสร้างสมดุลเมืองหลัก-เมืองรอง ด้วยการออกแบบการท่องเที่ยวเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรอง รวมถึงการสร้างคลัสเตอร์เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อกระจายโอกาสและรายได้
การสร้างสมดุลผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่ ด้วยการช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถกลับเข้าสู่ธุรกิจได้ และการสร้างสมดุลในด้านสินค้า ด้วยการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของ Man-made หรือการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและบริการ ลดการพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและไมซ์ ฯลฯ
พร้อมเสนอให้ภาครัฐพิจารณาจัดตั้ง Thailand Tourism Team โดยเอาบริษัทนำเที่ยวเข้าไปช่วยสำนักงาน ททท.ทั่วโลกทำการตลาด ด้วยการให้ ททท.เป็นคนกระตุ้นตลาด และให้บริษัทนำเที่ยวทำแพ็กเกจการขายรองรับ
ส่วนตลาดในประเทศก็ควรมี Thailand Tourism Team ในเมืองหลักที่มีเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และใช้บริษัทนำเที่ยวกระจายนักท่องเที่ยวออกไปจังหวัดใกล้เคียง เช่น นำเสนอโปรแกรมท่องเที่ยวพื้นที่รอบกรุงเทพฯ โปรแกรมท่องเที่ยว 2 สัปดาห์ในพื้นที่อันดามัน หรือโปรแกรมท่องเที่ยว 2 สัปดาห์ในภาคเหนือ เป็นต้น
เพราะบริษัทนำเที่ยวจะมีความเชี่ยวชาญในการดูแลนักท่องเที่ยว และรู้ว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละตลาดชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
“ผมมองว่าท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งที่สุดของประเทศนี้ ท่องเที่ยวคือเครื่องมือหลักของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผมมองว่าที่ผ่านมาการเดินหน้าท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้ทำสักเรื่อง วันนี้เอสเอ็มอีก็ยังไม่สามารถกลับมาแข่งขันได้ นักท่องเที่ยวก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก รายได้ก็ยังไม่กระจายออกไปสู่เมืองรอง หรือที่รัฐบาลเรียกว่าเมืองน่าเที่ยวมากนัก”
“ชำนาญ” ย้ำด้วยว่า ส่วนตัวยังมองว่าท่องเที่ยวไทยยังโตไม่เต็มศักยภาพ และยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกจำนวนมาก เพียงแต่ต้องออกแบบการท่องเที่ยวที่ดีและมีระบบการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรองให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่
โดยตนพูดประเด็นนี้มาตลอดตั้งแต่ที่เข้ามาเป็นประธานสภาท่องเที่ยวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในยุคที่เราประสบกับปัญหาโควิด ในช่วงนั้นผู้ว่าการ ททท. (ยุทธศักดิ์ สุภสร) ประกาศว่าประเทศไทยจะมุ่งโฟกัสนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ไม่เน้นปริมาณ ซึ่งส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วย
เพราะก่อนโควิดซัพพลายไซด์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ล้วนลงทุนมาเพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวได้ถึง 40 ล้านคน ถ้าประเทศไทยไม่เอาปริมาณก็เท่ากับว่าเราจะปล่อยให้ซัพพลายไซด์บางส่วนล้มหายตายจากไป
“ที่ผ่านมาผมว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของเรายังน้อยมาก เช่นเดียวกับการพัฒนาด้านบุคลากรรองรับที่ยังน้อยมากเช่นกัน ผมพยายามย้ำตลอดว่าการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ข้อเสียก็มีเช่นกันคือ การท่องเที่ยวมันหยุดไม่ได้ เราต้องก้าวตามเทรนด์ของโลก เช่น ต้องขับเคลื่อนสู่ Green Tourism ต้อง Sustainable Tourism เป็นต้น”
“ชำนาญ” บอกอีกว่า หากรัฐบาลทำการ Re-design ที่ดี มีการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว มีการวางเซ็กเมนเตชั่นนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน และมีระบบการกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรองที่ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมา 50 หรือ 60 ล้านคนก็จะไม่เกิดภาวะที่เรียกว่า Over Tourism
เพราะ Capacity รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นมันถูกจำกัดด้วยตารางการบิน และจำนวนเที่ยวบินอยู่แล้ว ยกเว้นเราจะสร้างสนามบินเพิ่ม ซึ่งก็ต้องใช้เวลา ฉะนั้นโจทย์สำคัญในเวลานี้คือ ต้องกระจายนักท่องเที่ยวไปเมืองรองให้ได้ เพื่อขยายวันพักให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้นให้ได้
โดยหัวใจคือ ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรรองรับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดประสบการณ์ที่ประทับใจในทุกขั้นตอนของการเดินทาง หรือทุก Customer Journey พร้อมย้ำว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น อยู่ที่การวางแผนทั้งสิ้น
Contact to : xlf550402@gmail.com
Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.