“การบินไทย” เอ็มโอยูกับ KMC ในโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า หนุนประเทศไทยเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีขีดความสามารถในการให้บริการดัดแปลงอากาศยานสำหรับโบอิ้ง 777-300ER แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และ บริษัท Kansas Modification Center, LLC. (KMC) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F)
โดยบริษัท KMC ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300ER ในฐานะผู้บุกเบิกเทคนิคการดัดแปลงรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนหน้า (Forward Cargo Modification) ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เน้นรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนท้าย ส่งผลให้เครื่องบินมีประสิทธิภาพเชิงน้ำหนัก (Weight Efficiency) ที่สูงกว่า เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าระยะไกล
นายชายกล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของประเทศใน 3 มิติหลัก ได้แก่ 1. เสริมสมรรถนะทางเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology-Transfer) การดัดแปลงเครื่องบิน P2F จากผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก
2. พัฒนาห่วงโซ่อุปทานการบิน สร้างระบบนิเวศการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อสนับสนุนการดัดแปลงเครื่องบิน P2F ภายใต้ลิขสิทธิ์จาก บริษัท KMC และบริษัทพันธมิตรของ KMC และ 3. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสร้างตำแหน่งงานคุณภาพในอุตสาหกรรมการบินกว่า 500 ตำแหน่ง
“การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการบินไทย และของประเทศไทยในการขยายศักยภาพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน เสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านการดัดแปลงอากาศยานซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก รวมถึงยังเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจของบริษัท” นายชายกล่าว
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทย ในการยกระดับอุตสาหกรรมการบินให้มีความครบวงจร สร้างรายได้ให้กับหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุง อากาศยาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จนถึงอุตสาหกรรมดัดแปลง อากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ อีกทั้งยังช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสนับสนุนยุทธศาสตร์ของชาติในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค รวมถึงยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศไทย และยังมีส่วนช่วยสร้างงานกว่า 500 ตำแหน่งให้กับอุตสาหกรรมการบินในประเทศอีกด้วย
สำหรับโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) มีแผนดำเนินการดัดแปลง ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง และพื้นที่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300ER แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Contact to : xlf550402@gmail.com
Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.