"ดีอี" ลุยเพิ่มประสิทธิภาพปราบ ‘โจรออนไลน์’ ยกระดับศูนย์ ‘AOC 1441' สู่ ‘ศปอท.’ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เร่งกำหนดมาตรการ ‘พ.ร.ก.ไซเบอร์ฉบับใหม่’ บูรณาการช่วยเหลือประชาชนทุกมิติ 

 

วันที่ 26 เมษายน 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าร่วมประชุมว่า รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน โดยปัจจุบัน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานต่างๆ กำลังดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับอย่างเร่งด่วน



นายประเสริฐ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  8 เรื่องสำคัญ ที่มีผลการดำเนินงาน ถึง 31 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.การปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ เดือนมีนาคม 2568 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มีการจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท มีจำนวน 4,907 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.67 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ในช่วงมกราคม - มีนาคม 2567 , การจับกุมคดีพนันออนไลน์ เดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 1,933 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.67 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ในช่วงมกราคม - มีนาคม 2567 , การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า และความผิดตาม พรก.ฯ เดือนมีนาคม 68 มีจำนวน 710 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 195.83 เมื่อเทียบกับการจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567



2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ (ปีงบประมาณ 68 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568 มีการปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 43,195 (URLs) หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,164 (URLs) และอื่นๆ 34,041 (URLs) รวม 78,400 (URLs) , มีการประสานแพลตฟอร์มเพื่อขอปิดกั้นเกี่ยวกับหลอกลวงออนไลน์ ที่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 8,692 (URLs) ที่ไม่มีคำสั่งศาล มีจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 25,643 (URLs) (เฉพาะในส่วนของกระทรวงดีอี)



3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 มีนาคม 2568 มีดังนี้ ศูนย์ AOC ได้ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 359,763 บัญชี  และ ปปง. ทำการอายัดบัญชีไปแล้วจำนวน 753,373 บัญชี (ณ วันที่ 22 เมษายน 2568) 



4.การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดย กสทช. ได้ดำเนินมาตรการ ดังนี้ (1) มาตรการระงับการให้บริการ Wi-fi Calling ระบบเติมเงิน (ชั่วคราว) , (2) ตรวจสอบการลงทะเบียนใช้งาน SIM Card หลังการปรับปรุงระบบลงทะเบียนใช้งาน SIM Card , (3) มาตรการตรวจสอบความเป็นเจ้าของสายสัญญาณและตัดสายที่ลักลอบใช้งาน , (4) ระงับการให้บริการโทรคมนาคมกับคู่สัญญาที่พบการกระทำผิดและตรวจสอบการนำบริการโทรคมนาคมไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต , (5) มาตรการการจัดการบริการส่งข้อความสั้น (SMS) แบบ A2P โดยลงทะเบียนใช้งาน Sender Name และตรวจสอบความถูกต้องของ Link ก่อนส่งทั้งหมด , (6) มาตรการการลงทะเบียนใช้งาน SIM box หากไม่ลงทะเบียนภายในเดือนเมษายน 2568 จะปิดการใช้งาน , (7) มาตรการการห้ามลูกตู้รับลงทะเบียนเปิดใช้งานชิมการ์ด และ (8) มาตรการกำกับการใช้งาน e-SIM ห้ามจำหน่าย e-SIM ผ่านระบบ Online



สำหรับผลการดำเนินการตามมาตรการระงับ IP Address ซึ่ง กสทช. ได้แจ้งผู้ให้บริการะงับการให้บริการผู้ใช้ IP Address ที่มีการกระทำความผิดตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นของผู้รับใบอนุญาต จำนวน 10 ราย จำนวนทั้งสิ้น 465 IP ส่วนผลการดำเนินการตามมาตรการลงทะเบียน Sender Name การตรวจสอบ SMS แนบลิงก์ URL ประกอบด้วย (1) จำนวนผู้ให้บริการส่งข้อความสั้น จำนวน 43 ราย , (2) ผู้ให้บริการฯ ส่งข้อมูลลงทะเบียน Sender Name แล้ว จำนวน 28 ราย , (3) ผู้ให้บริการฯ แจ้งว่ายังไม่เปิดให้บริการ จำนวน 13 ราย และ (4) อยู่ระหว่างติดตามสถานะการเปิดให้บริการ จำนวน 2 ราย



5. มาตรการ Mobile Cleansing มีความคืบหน้าการดำเนินมาตรการ Mobile Banking เมื่อมีการดำเนินการในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 30 เมษายน 2568 โดยธนาคารจะส่งข้อมูลผู้ใช้ Mobile Banking ที่เป็นปัจจุบันจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ไปให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Operator) สำหรับในส่วนระยะที่ 2 โอเปอร์เรเตอร์ จะนำข้อมูลส่งผ่านระบบของ ปปง. เพื่อตรวจสอบกับข้อมูลลูกค้าว่าอยู่ในกลุ่มใด จากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2568 ธนาคารส่งข้อมูลผู้เปิดใช้ Mobile Banking เพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์ตรวจสอบอีกครั้ง และให้ธนาคารเริ่มดำเนินการตรวจสอบผลและเริ่มระงับการใช้บริการ Mobile Banking ในเดือน มิถุนายน 2568



6.การจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ซึ่งตามมาตรา 8/5 แห่งพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 กำหนดให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ซึ่งเป็นการยกระดับศูนย์ AOC 1441 โดย ‘ศปอท.’ จะเป็นกลไกหลักในการรับแจ้งเหตุ รับคำร้องทุกข์ สั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ประสานงานวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ครบวงจร และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้ 6.1 ปรับโครงสร้างศูนย์ AOC 1441 และเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน และการแต่งตั้งหัวหน้า ศปอท. , 6.2 จัดทำระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามมาตราต่าง ๆ ตาม พ.ร.ก. (ด้านการแสดงผลหรือสถานะ การสั่งการ การวิเคราะห์ การติดตาม และการรายงาน) , 6.3 แนวทางการดำเนินการภายในของหน่วยงาน และการดำเนินการของหน่วยงานอื่นที่มาปฏิบัติหน้าที่ ศปอท. กระบวนการขั้นตอนการสั่งการ หลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ของ ศปอท. , 6.4 การรับแจ้งเหตุของ ศปอท. ให้ถือเป็นการร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหาย (การประสานงานข้อมูลร่วมกับ ตร. สอท. ในการปรับกระบวนการแจ้งความ) , 6.5 ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงาน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเลขานุการ คณะกรรมการฯ ทำหน้าที่หัวหน้า ศปอท. ตามมาตรา 8/7



7.การเตรียมความพร้อมเพื่อบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ของ ปปง. ได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎกระทรวง เพื่อคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งออกตามความในมาตรา 8/1 และมาตรา 8/2 ของพ.ร.ก.ฯ และเตรียมจัดตั้งกองเพิ่มเติม เพื่อรองรับการตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ที่ปัจจุบันพบว่ามีเงินค้างอยู่ในบัญชีที่มีการระงับช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ จำนวนกว่า 80,000 บัญชี เป็นจำนวนเงินกว่า 2,500 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2568) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์โดยเร็ว



8.มาตรการกำกับดูแลแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศ ซึ่งภายหลัง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 มีผลบังคับใช้ Binance Global ได้ประกาศเลิกให้บริการ P2P สำหรับเงินบาท เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก. โดย ก.ล.ต.จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และส่งข้อมูลแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเป็นข้อมูลให้กระทรวงดีอี พิจารณาดำเนินการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์ม



“ภายหลังที่ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก. พร้อมบูรณาการยกระดับ ศูนย์ AOC 1441 เป็นศูนย์ ‘ศปอท.’ ซึ่งจะครอบคลุมในการดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเตรียมออกกฎกระทรวง เพื่อการบังคับใช้ในการกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 



#โจรออนไลน์ #พรกไซเบอร์ฉบับใหม่ #ข่าววันนี้ #มิจฉาชีพ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.