จับตาหน้าร้อนปี’68 ดันยอดใช้ไฟฟ้าทำสถิติสูงสุดเกิดพีคไฟฟ้ารอบที่ 4 ของปี’68 ล่าสุด 24 เม.ย. 68  เวลา 20.48 น. ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่ง 34,620.4 เมกะวัตต์  แตะระดับใกล้เคียงเดือน พ.ค. ปี 67 ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ สนพ.คาดยอดใช้ไฟปีนี้เพิ่ม 2.9%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อากาศร้อนปีนี้ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พบว่าภาพรวมการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) จาก 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง) ระบุว่า ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ขึ้นเป็นรอบที่ 2 ของเดือน เม.ย. และเป็นครั้งที่ 4 ของปี 2568  โดยเกิดขึ้นล่าสุดวันที่ 24 เมษายน 2568 เวลา 20.48 น. แตะระดับ 34,620 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากพีคไฟฟ้าของวันที่ 22 เมษายน 2568 เวลา 20.47 น. ที่ระดับ อยู่ที่ 34,130 เมกะวัตต์

ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน พบว่ามีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆเดือน

โดยเดือนมกราคม 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. 2568 เวลา 18.48 น. ที่ระดับ 27,953.3 เมกะวัตต์

เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 19.18 น.ที่ระดับ 30,942 เมกะวัตต์

เดือนมีนาคม 2568 ยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 20.33 น. ที่ระดับ 33,658 เมกะวัตต์

คาดยอดใช้ไฟปีนี้เพิ่ม 2.9%

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้คาดการณ์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 2.9% สอดรับกับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยปี 2568 จะต่ำกว่าที่ปีที่ผ่านมา

โดยเมื่อย้อนไปในปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ระดับ 36,792 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

การใช้ไฟฟ้า (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ IPS) อยู่ที่ 214,469 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 5.2% มีผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสภาพอากาศที่ร้อน ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 6.4% ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 7.7% การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2.3%

ร้อนขึ้น 1 องศา ค่าไฟพุ่ง 3%

อย่างไรก็ตามในช่วงหน้าร้อนของทุกปี ทำให้บิลค่าไฟฟ้าสูงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนเท่าเดิม ตัวเดิม แต่ทำไมในบิลค่าไฟฟ้าจึงระบุว่า “จำนวนหน่วยไฟฟ้า” ที่ใช้เพิ่มขึ้น เช่น ยกตัวอย่างบ้านหลังหนึ่งไม่มีคนอยู่อาศัยแต่เสียบปลั๊กตู้เย็นทิ้งไว้ 1 เครื่อง เดือนกุมภาพันธ์ ระบุจำนวนการใช้ไฟฟ้า 77 หน่วย แต่พอมาเดือนเมษายน กลับเพิ่มขึ้นเป็น 84 หน่วย

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) มีการอธิบายปรากฏการณ์ “หน่วยไฟ” เพิ่มว่า หากตรวจสอบแล้วหน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งที่การใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะสาเหตุหลักจะมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่าง ๆ จะ “กินไฟเพิ่ม” เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เท่าเดิมทั้งจำนวนชิ้น และระยะเวลาการเปิดใช้

เนื่องจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็น หรือทำอุณหภูมิให้เท่ากับที่เราตั้งค่าไว้ แต่พออากาศร้อนขึ้น เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้เท่าเดิมนั่นเอง ส่งผลให้แอร์หรือตู้เย็นทำงานหนัก คอมทำความเย็นจะทำงานตลอดโดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไรอัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่ม

ซึ่งมีการคำนวณง่าย ๆ ตามสูตรของการไฟฟ้า ที่ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัว ขนาด 12,000 บีทียู เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

5 ป.เซฟไฟหน้าร้อน

กระทรวงพลังงาน แนะคล็ด (ไม่) ลับ 5 ป. ประหยัดพลังงาน รับหน้าร้อน ผ่านเทคนิค 5 ป.ที่ช่วยให้ประหยัดไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น : ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งาน แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ช่วยประหยัดไฟได้มาก
  • ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา : ปรับอุณหภูมิแอร์ให้เย็นสบายโดยไม่ต้องหนาวเกินไป ช่วยให้ประหยัดไฟได้ถึง 10%
  • ปลดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน: ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน เพื่อป้องกันการกินไฟแอบแฝง
  • เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 : ยิ่งเป็นฉลากโฉมใหม่ 5 ดาว ยิ่งช่วยให้ประหยัดไฟได้มากกว่า
  • ปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงา รักษาสิ่งแวดล้อม: ปลูกต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน ช่วยลดความร้อนภายในบ้าน ประหยัดไฟจากการเปิดแอร์

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.