คอลัมน์ : Politics policy people forum

11 พฤษภาคม 2568 เป็นวันระเบิดศึกเลือกตั้งท้องถิ่นระดับนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้น กทม.

เป็นสนามเลือกตั้งที่มีการเลือก กว่า 2,469 แห่ง แบ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี จำนวน 2,121 แห่ง และการเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 348 แห่ง

แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือศึกเลือกตั้งนายกเทศมนตรี หรือ นายกเล็ก ซึ่งเป็นการชิงอำนาจการเมืองท้องถิ่น

มีพรรคการเมืองระดับชาติ เพียงพรรคเดียวที่ถกแขนเสื้อลงพื้นที่หาเสียงอย่างเป็นทางการคือ พรรคประชาชน

พรรคประชาชน นำโดย “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรี และ สท. รวมทั้งสิ้น 39 จังหวัด 101 เทศบาล แบ่งเป็น เทศบาลนคร 16 แห่ง เทศบาลเมือง 28 แห่ง และเทศบาลตำบล 57 แห่ง แต่มีตัวละครเด็ด คือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ลุยช่วยหาเสียงเต็มกำลัง

แต่หลายพื้นที่ก็เป็นการสู้ศึกของบ้านใหญ่ระดับประเทศ ที่คุมพื้นที่ในแต่ละจังหวัด เช่น เก้าอี้นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการวัดกันระหว่างคนของบ้านใหญ่สายพรรคเพื่อไทย “อัศนี บูรณุปกรณ์” กับ “ธีรวุฒิ แก้วฟอง” จากพรรคประชาชน ที่มีแรงหนุนจาก “บูรณุปกรณ์” อีกสาย “ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์” ที่ช่วยอยู่เบื้องหลัง

นายกเทศมนตรีนครเชียงราย “ศราวุธ สุตะวงค์” จากพรรคประชาชน ที่มี “ธนาธร” ลงช่วยหาเสียง ต้องแข่งกับบ้านใหญ่ “วันชัย จงสุทธานามณี” อดีตนายกเล็กนครเชียงรายหลายสมัย

หรือการชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ที่พรรคชาติพัฒนา ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ส่ง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้สมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา ในนามทีม “โคราชชาติพัฒนา”

2 ปีก ฐานการเมืองท้องถิ่น

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ที่เกาะติดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น สะท้อนภาพเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล กับการเมืองบ้านใหญ่-ภาพใหญ่ ว่า การเมืองสายบ้านใหญ่ สนามนี้จะแยกเป็น 2 ปีกย่อย ให้เขารักษาฐานอำนาจในท้องที่ให้มั่นคงมากขึ้น เช่น บ้านใหญ่คุม อบจ.อยู่ วันนี้ก็ต้องปักหลักคุมเทศบาลหลัก ๆ อบต.หลัก ๆ ตามฐานเสียงที่ตัวเองมี

อีกปีกหนึ่ง การเมืองไม่ได้เป็นน้ำเดียวกัน ขนาดที่บ้านใหญ่คุมทั้งหมด สนามเทศบาลจึงเป็นสนามย่อยให้ขั้วอำนาจตรงข้ามกับบ้านใหญ่มีที่ทางทางการเมือง ซึ่งเป็นการแชร์ผลประโยชน์กัน เช่น สนาม อบจ. กลุ่มเทศบาลใหญ่ไม่ไปแตะ แต่พอถึงการเลือกตั้งนายกเทศบาล บ้านใหญ่ก็อย่ามายุ่ง

แต่สมมุติถ้าผิดแผน มีตัวแทรกขึ้นมา ก็จะเกิดปัญหาขึ้นนิดหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะเทศบาลกับ อบต. พื้นที่ย่อยมาก เหมือนกับถิ่นใคร ถิ่นมัน จึงไม่แน่เสมอไปว่าอิทธิพลแบบบ้านใหญ่จำเป็นต้องชนะ และโดยธรรมชาติ บ้านใหญ่ก็ไม่ค่อยยุ่ง ยกเว้นพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงดั้งเดิมของเขา เพราะบ้านใหญ่บางแห่งโตมาจากเทศบาลนั้นพอดี แต่ถ้าไม่ใช่ เขาก็เฉย

บ้านรองชิงอำนาจบ้านใหญ่

ถ้าการเมืองภายในแตกกันก็จะมีเปลี่ยนขั้วได้ เช่น การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ที่เลือกตั้งผ่านไปแล้ว ตระกูลดั้งเดิม (นางเปรมฤดี ชามพูนท คณะลูกนเรศวร แพ้ นายศิริชิน หาญพิทักษ์พงศ์ กลุ่มพัฒนานคร) แต่ถามว่าแพ้กลุ่มใหม่คือ พรรคประชาชนไหมหรือไม่ ไม่ใช่ แต่เพราะการเมืองบ้านใหญ่พิษณุโลกแตกกันเอง เป็นกลุ่มการเมืองในพิษณุโลกกลุ่มรอง ๆ แต่ดั้งเดิม เพราะนายกคนเก่าแก่แล้ว จึงอยากจะผงาดขึ้นมาแทน และได้แรงสนับสนุนจากนายก อบจ.เข้ามาช่วย

มีหลายที่ที่เป็นอย่างนี้ นายกเทศมนตรีที่ครองเก้าอี้มาหลายสมัย เมื่อเริ่มโรยราก็มีอดีตรองนายกของตัวเองขึ้นมาท้าชิง ถ้าคนที่อยู่ในเครือข่ายหันไปสนับสนุนตัวรอง เพราะเห็นว่าตัวเก่าแก่แล้วก็จะทำให้เปลี่ยนขั้วได้ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนเก้าอี้ในเครือข่ายเดิม ไม่ได้เปลี่ยนการเมืองแท้จริง

ซึ่งจะเชื่อมการเมืองภาพใหญ่ตรงที่ การเมืองของพรรคการเมืองสไตล์ผูกมิตรกับบ้านใหญ่ก็จะอยู่ในกระบวนการนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต่อให้เปลี่ยนขั้วอำนาจกันเองภายใน จากนายกคนเก่า มาเป็นนายกคนใหม่ แต่มาจากฐานเดียวกัน ขั้วเดียวกัน การเมืองใหญ่ก็ไม่กระทบ เพราะสุดท้ายพอถึงเวลาเลือกตั้งสนามใหญ่ กลุ่มเหล่านี้ก็ยังไปสนับสนุนพรรคการเมืองเดิม และการเมืองใหญ่ก็ไม่อยากมาแทรก ปล่อยให้แข่งกันเอง

2 กลุ่มในพรรคส้ม

อีกแบบหนึ่งคือ พรรคประชาชน หรือคณะสีส้ม พยายามส่งผู้ท้าชิงในสนามเทศบาล ซึ่งกลุ่มนี้คาดหวังเยอะ ซึ่งกลุ่มสีส้มมี 2 แบบเช่นกัน กลุ่มแรก คือกลุ่มธุรกิจใหม่ นอกวงการการเมือง แต่อยากจะเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่น และใช้พลังสีส้มเข้ามาหนุน กับอีกแบบหนึ่ง คือ กลุ่มพลังเก่า ๆ ที่เคยแข่งกับอำนาจเดิม แต่สู้ไม่ได้ เมื่อเห็นพรรคสีส้มมีกระแส เป็นความหวังก็คว้าเอาไว้ จะได้คะแนนคนรุ่นใหม่ หรือได้คะแนนจากคนที่ไม่ชอบการเมืองบ้านใหญ่ พรรคเก่า

หรือกลุ่มการเมืองเก่า มาบวกกับส้มก็จะชนะ เช่น นายกเทศมนตรีเมืองบางรักพัฒนา จ.นนทบุรี กำนันแรม พิทักษ์ อยู่สุข พรรคประชาชน เอาชนะ นายกิจก้อง นาคทั่ง อดีตนายกเทศมนตรี ก็พบว่าผู้สมัครเป็นอดีตนักการเมืองในท้องที่ เมื่อใส่เสื้อสีส้มก็สู้กับอีกฝ่ายได้ แต่ถ้าเป็นผู้สมัครโนเนมไปเลยก็จะแพ้ขาด

ขณะนี้เห็นภาพการเลือกตั้งเทศบาลลาง ๆ แล้วหลายพื้นที่ชิงลาออกก่อนครบวาระ และมีการเลือกตั้งไปแล้ว มีทั้งแชมป์เก่าที่รักษาฐานได้ กับเปลี่ยนขั้วภายในกันเองระหว่างการเมืองแบบบ้านใหญ่ และมีแบบที่พรรคส้มแซงได้ เราก็จะเห็นว่าส้มที่แซงได้ คือ ส้มที่มี “นามสกุล” การเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่หน้าใหม่เพรียว ๆ ถ้าหน้าใหม่เพรียว ๆ ก็จะแพ้ การเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤษภาคม ที่จะเลือกกันทั่วประเทศ ภาพก็จะเป็นแบบนี้ ไม่น่าจะหลุดไปจากนี้มากนัก

ส่วนการเมืองภาพใหญ่ เพื่อไทย-ภูมิใจไทย มาเล่นสนามนี้ด้วยหรือไม่ “ดร.สติธร” กล่าวว่า ไม่มาก พอสนามท้องถิ่นเทศบาล หรือ อบต. เป็นสนามเล็กในลักษณะ “ถิ่นใคร-ถิ่นมัน” อารมณ์แบบการเมืองภาพใหญ่ลงมายุ่งเยอะ จะได้ไม่คุ้มเสีย และ Impact ยาก โดยธรรมชาติของเทศบาลเป็นท้องถิ่นหน่วยให้บริการสาธารณะ ทำงานรูทีน ทำบ้านเมืองให้สะอาด เก็บขยะให้เป็นที่ ดูแลชีวิตประจำวันทั่วไป ต่างกับ อบจ.ที่มีนโยบายเชื่อมโยงกับระดับชาติได้บ้าง

ส่องโอกาส ปชน.

ส่วนพรรคประชาชน ใช้โมเดลเหมือนยุค “พรรคประชาชน” ที่มีแกนหลักสำคัญช่วยหาเสียง คือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ที่เอาจริงเอาจังกับสนามเลือกตั้งเทศบาล เพราะในปี 2564 เมื่อครั้งคณะก้าวหน้า ได้เก้าอี้นายกเทศมนตรี 10 กว่าแห่ง

“เขาใช้โมเดลแบบที่ชนะแบบเดิม เหมือนที่เคยชนะรอบก่อน ถ้าเป็นเทศบาลตำบลที่ต้องการพัฒนา ก็จะใช้นโยบายเดิม เช่น น้ำประปาดื่มได้ อารมณ์ที่ ‘ธนาธร’ เอาจริง จะได้คะแนนเมื่อ เทศบาลทำงานไม่สมศักยภาพ บริการธรรมดาพื้นฐานไม่ดี น้ำยังขุ่น ขยะล้นถัง เพราะผู้บริหารเดิมไม่ดี อารมณ์แบบนี้พรรคประชาชนจะได้คะแนน แต่ถ้าเทศบาลไหนที่ผู้บริหารทำดีอยู่แล้ว พรรคประชาชนเกิดยาก เอาจริงแค่ไหนก็ไม่เกิด”

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.