เรื่องราวของโรงไฟฟ้าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่จนถึงวันนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ก็ยังไม่สามารถเริ่มนับหนึ่งอย่างจริงจังได้ เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งที่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน อาจช่วยให้ SMR เป็นทางเลือกสำคัญในการก้าวข้ามวิกฤตพลังงานในอนาคตได้

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ i-Forum ครั้งที่ 7 เรื่อง “SMR นิวเคลียร์ขนาดเล็ก ดีจริงหรือ ?” โดย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR เป็นโมดูลขนาดเล็ก มีขนาดไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนลดลงเหลือแค่ 1 แสนล้านบาท สามารถเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีหรือเครื่องปฏิกรณ์ในอนาคได้ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ส่วนพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไป พบว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ แต่ SMR จะลดลงมาเหลือเพียง 100 ไร่ ซึ่งสามารถทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ขณะเดียวกันพื้นที่ฉุกเฉินก็ลดลง มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร

“ถ้าเราจะสร้าง SMR จริง ๆ เรายังมีเวลาพอในการเตรียมการ เช่น การเตรียมบุคลากร การจัดการของเสีย แต่หากเราตั้งใจเดินเครื่องในปี 2580 เหลือระยะเวลาอีก 10 กว่าปี ก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ จริง ๆ อยากบอก กฟผ.ว่า ถ้าเราขยับเร็วให้มากกว่านี้ก็จะเป็นผลดี ยิ่งเรารอช้า เราก็จะต้องแบกรับค่าเสียโอกาสในหลาย ๆ ด้าน เช่น การดึงการลงทุนจาก Data Center ที่มีความต้องการด้านพลังงานสะอาด” รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าว

กฟผ.เปิดแผนอีก 7 ปีเริ่มสร้าง

นายอรินทม์ เตมียกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ฉบับใหม่ มีการบรรจุไว้ในช่วงปลายแผน PDP ภายในปี 2580 โดยกำหนดไว้ 2 โครงการ 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคใต้ แต่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้ เนื่องจากในแผนระบุว่า การเลือกพื้นที่ต้องอยู่ห่างไกลความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวและชุมชน ขณะเดียวกันภาคเอกชนเสนอแนะพื้นที่ตั้งในโซนทหารนั้น มองว่าเป็นไปได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งจะเป็นจุดอันตรายเพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่ในการทำโรงไฟฟ้าอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ กฟผ.ได้บรรจุแผนปฏิบัติการ SMR ไว้ภายใต้แผนวิสาหกิจ กฟผ. ปี 2568-2572 โดยระบุว่า ปี 2568 จะมีการเตรียมการ ประกอบด้วยการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น คัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า คัดเลือกเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ รวมถึงการเตรียมบุคลากร ต่อมาปี 2570 จะเริ่มเข้าสู่การ Go Nuclear ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ นำรายงานผลการศึกษาขออนุมัติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำผลสรุปขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาผู้รับเหมา ตามการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขของงาน (TOR)

เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาโครงการ ถัดมาปี 2575 จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้า และในปี 2580 เริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า โดยมีการบำรุงรักษาต่อเนื่องระยะเวลา 60 ปี และในปี 2640 เข้าสู่การรื้อถอน

แค่รอนโยบายรัฐที่ชัดเจน

“แผน PDP กำหนดว่า หน่วยงานที่ดูแลจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล อาจจะมีปลัดกระทรวงนั่งหัวโต๊ะ และมีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องราว 4-5 คณะ ดูแลในหลายมิติ ทำงานร่วมกัน แต่ตอนนี้เราต้องรอความชัดเจนจากภาคนโยบายเพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป เชื่อว่าไทยมีความพร้อม มีบุคลากรเพียงพอ แต่ต้องทำงานร่วมกันภายใต้นโยบายที่มีความชัดเจน”

สำหรับของเสียจากเชื้อเพลิงที่มาจากโรงไฟฟ้า SMR คาดว่าจะมีปริมาณไม่ถึง 10 ตันต่อปีต่อ 1 โรง ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก ส่วนกระบวนการจัดเก็บของเสียกัมมันตรังสี มี 2 แนวทางหลัก ๆ คือ ส่งคืนให้กับประเทศต้นทาง แต่จะทำให้ต้นทุนโรงไฟฟ้าแพงขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ออกแบบพื้นที่การจัดเก็บกากของเสีย

“มีคนบอกว่ากระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ช้า เพราะ กฟผ.ไม่ได้เอื้อให้ลัดกติกา จะต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนตามขั้นตอน เอกชนสามารถไปคุยกับหน่วยงานได้เลย แต่ กฟผ.อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน มีหน่วยงานกำกับดูแลอีกหลายหน่วย”กฟผ. SMR

ออกแบบรับแผ่นดินไหว-น้ำท่วม

ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยปกติโรงไฟฟ้าจะมีการวางมาตรการไว้ 5 ระดับ ตั้งแต่ชั้นของการทำงานปกติ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของสถานะ ความร้อน ความดันที่เกิดขึ้น ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น แผ่นดินไหว

ดังนั้น เราจึงออกแบบโรงไฟฟ้าให้รองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ขณะเดียวกันไทยเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง เราจึงมีการออกแบบป้องกันน้ำท่วมด้วย ดังนั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ข้างนอก หรือชุมชนโดยรอบ

แต่อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า เช่น เหตุการณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิด 2 เหตุพร้อมกัน คือ แผ่นดินไหวและสึนามิ จึงต้องใช้การป้องกันอีกระดับที่นอกเหนือจากการคาดการณ์ ส่วนการบรรเทาเหตุนั้น โดยปกติการเตรียมพร้อมฉุกเฉินจะพิจารณาความพร้อมของสถานปฏิบัติการ เช่น ถังดับเพลิง ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินกู้สถานการณ์ภายใน ส่วนข้างนอกมีบังเกอร์ให้คนหลบภัย หรืออุปกรณ์ตรวจจับรังสีที่หลุดออกไปจากโรงไฟฟ้า

“เรากำหนดพื้นที่ฉุกเฉินไว้หลายชั้น ขึ้นอยู่กับระยะห่างโรงไฟฟ้า ไทยมีการเตรียมการพอสมควรแต่ยังไม่ครอบคลุมเพราะเรายังไม่มีโรงไฟฟ้า แต่การตอบสนองต่อสถานการณ์ทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการเราก็มีอยู่แล้ว จากเคสซีเซียม ที่เรามีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว”

ส่งไปกำจัดของเสียค่าขนส่งแพง

รศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี เราจึงต้องโฟกัสในฐานะผู้ที่กำลังจะมีโรงไฟฟ้าจึงต้องใช้หลักการบริหารจัดการของเสียที่ Save Cost ด้วย

สำหรับการจัดการของเสียนิวเคลียร์โดยทั่วไป (General Classification or Radwaste) นั้น เช่น กากกัมมันตรังสีที่มีระดับค่ากัมมันตภาพสูง หรือ High Level Waste (HLW) มักจะเกิดขึ้นเยอะ เมื่อมีกระบวนการ Retransfer เชื้อเพลิง หากไทยดำเนินการเอง ควรเข้มงวดกับระบบการควบคุมความปลอดภัย แต่ถ้าส่งไปกำจัดในประเทศเจ้าของเทคโนโลยีจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง มีค่าขนส่งข้ามประเทศ

ส่วนการกำจัดขยะระดับต่ำ หรือ Low Level Waste (LLW) มีกัมมันตรังสีค่อนข้างน้อย อาจใช้วิธีการจัดการบริเวณผิวดิน (Near Surface Facility) ของเสียที่มีกัมมันตรังสีสูงพอ ซึ่งไทยควรมีการดำเนินการเอง เนื่องจากมี Activity ต่ำ หรือสลายตัวได้ในระยะเวลาไม่นาน ไม่เป็นภาระต่ออนาคตมากเท่ากับ HLW นอกจากนี้ ควรจัดทำแผนพลังงานไฟฟ้าเฉพาะจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะยาวด้วย

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.