สไตล์การบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกบรรยายด้วยถ้อยคำคล้าย ๆ กันของหลายคน ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ว่า “โกลาหล-เอาแน่เอานอนไม่ได้-มือสมัครเล่น-ไร้ความสามารถ”
ประเด็นภาษีศุลกากรคือเรื่องที่ถูกตำหนิมากที่สุดว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่ และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ พันธบัตร และค่าเงินดอลลาร์สูญเสียความเชื่อมั่นอย่างร้ายแรงที่สุด ภายหลังจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยเก็บพื้นฐานขั้นต่ำ 10% และยังเก็บภาษีต่างตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs กับอีกหลายสิบประเทศในอัตราเกิน 10% ไปจนถึง 54% (เฉพาะจีนถูกประกาศเก็บเพิ่มในภายหลังเป็น 145% และ 245%)
อัตราภาษีที่สูงเกินคาดหมายไปมาก จากที่ตลาดคิดว่าสูงสุดไม่น่าจะเกิน 20% ทำให้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นไป ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งสูงแบบฉับพลัน สะท้อนให้เห็นการเทขายของนักลงทุน และดอลลาร์อ่อนค่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐต่างสูญเสียมูลค่าตามราคาตลาดมโหฬาร อย่างเช่น แอปเปิล อิงก์ สูญเสียมูลค่าตลาดไป 6.4 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 20% ในช่วงแค่ 3 วันทำการ คือ 3, 4 และ 7 เมษายน
มีคำถามว่าทำไมทรัมป์ถึงได้ดื้อรั้นในการตั้งกำแพงภาษีศุลกากรสูงลิบขนาดนั้น ทั้งที่มีแต่ผลเสีย
ว่ากันว่า “ผู้ออกแบบ” ภาษีศุลกากรสูตรพิสดารในครั้งนี้น่าจะเป็นปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าและการผลิตของทรัมป์ คนที่ทรัมป์เชื่อถือมากที่สุด ดังนั้น ทรัมป์จึงไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาคธุรกิจที่เริ่มส่งเสียงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีเม็กซิโกและแคนาดา 25% และแม้แต่หลังจากตลาดหุ้น พันธบัตร และดอลลาร์ วินาศหลังจากการประกาศเก็บภาษีทุกประเทศแบบครอบคลุมเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทรัมป์ก็ไม่ใส่ใจ ยังคงไปเล่นกอล์ฟ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะอิทธิพลจากการ “กระซิบ” ของนาวาร์โร ที่ว่าไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องสนใจ
ส่วนสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังที่เคยเป็นความหวังของภาคธุรกิจ ว่าจะเป็นผู้เหนี่ยวรั้งไม่ให้ทรัมป์ขึ้นภาษีรุนแรง ดูเหมือนจะไม่ได้มีบทบาทมากเท่านาวาร์โร เพราะหลังจากวันที่ 2 เมษายน เขาพูดเองว่าไม่ได้เป็นผู้คำนวณภาษีศุลกากร
ภายหลังจากตลาดหุ้นวินาศ มีรายงานว่าบรรดาซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงบิ๊กในแวดวงการเงินต่างพากันไปที่รีสอร์ตส่วนตัว มาร์-อะ-ลาโก ของทรัมป์ เพื่อไปหว่านล้อม โน้มน้าว ในนั้นมีอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาอยู่ด้วย
ความพินาศของตลาดหุ้น พันธบัตรถูกเทขาย และดอลลาร์อ่อนค่า น่าจะเป็นเหตุให้ในวันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นเส้นตายที่จะเก็บภาษีศุลกากร ทรัมป์ยอมประกาศ “ระงับ” การเก็บภาษีเป็นเวลา 90 วัน
มัสก์เป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ในการสนับสนุนทรัมป์จนชนะเลือกตั้ง เขาเป็นคนวงในคนหนึ่งที่คัดค้านการเก็บภาษีศุลกากรก่อนประกาศด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนทรัมป์จะฟังนาวาร์โรมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมัสก์จึงเปิดศึกกับนาวาร์โรผ่านทาง X โดยครั้งแรกมัสก์โพสต์ว่า “จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องดี เขาไม่เคยสร้างอะไรเลย”
เมื่อมีนักข่าวถามนาวาร์โรเรื่องที่มัสก์โพสต์ นาวาร์โรตอบว่าไม่เป็นไร เขาเข้าใจมัสก์ เพราะมัสก์เป็น (แค่) “ผู้ประกอบรถยนต์” ไม่ใช่ “ผู้ผลิตรถยนต์” ทำให้มัสก์ตอบโต้กลับไปว่า “(นาวาร์โร) โง่กว่ากระสอบอิฐ” ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยว่าโง่จนไม่รู้จะเปรียบกับอะไรดี
หลังจากนั้น มัสก์ก็แสดงท่าทีคัดค้านทรัมป์อย่างเปิดเผย โดยเขากล่าวกับนักการเมืองในอิตาลีว่า สนับสนุนให้สหรัฐกับสหภาพยุโรปจัดตั้งเขตการค้าเสรีและมีภาษีเท่ากับศูนย์ จากนั้นก็โพสต์วิดีโอของมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน เพื่อสนับสนุนการค้าเสรี
แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าการขู่ใช้ภาษีศุลกากรสูง ๆ เป็น “กลยุทธ์” ของทรัมป์และทีมงานเพื่อเจรจาต่อรองกับคู่ค้า แต่ปัญหาคือความไม่อยู่กับร่องกับรอยของทรัมป์ที่เปลี่ยนได้ทุกวัน ทำให้นักลงทุนและนักธุรกิจไม่กล้าตัดสินใจทั้งเดินหน้าหรือถอยหลัง ซึ่งน่าแปลกใจที่คนใกล้ชิดของทรัมป์ ทั้งนาวาร์โรที่จบเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด เบสเซนต์ที่เคยเป็นผู้จัดการกองทุนระดับโลก ที่เคยทำงานให้กับจอร์จ โซรอส และฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ ที่เคยเป็นประธานธนาคารเพื่อการลงทุนอย่างแคนเทอร์ ฟิตซ์เจอรัลด์ จะไม่เห็นความสำคัญของ “ความแน่นอน เชื่อถือได้” ของนโยบายรัฐบาล
ภาษีศุลกากรที่ประกาศออกมานั้น ไม่ต่างจากการ “ยิงหัวแม่เท้า” ตัวเอง แต่ดันหวังว่าคนอื่นจะบาดเจ็บมากกว่าตัวเอง นอกจากนั้น นโยบายต่างประเทศก็มีความสับสน กล่าวคือต้องการเล่นงานจีน แต่กลับทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตรเดิมทั้งหมด และหันไปคบค้ากับรัสเซีย ทำให้ขาดพลังที่จะเล่นงานจีน
หลังจากวันที่ 2 เมษายน ทั้งเบสเซนต์และลุตนิก ยังแสดงความมั่นอกมั่นใจ ออกมาเป็นลูกคู่ให้กับทรัมป์ด้วยการขู่ประเทศต่าง ๆ ไม่ให้ขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐเป็นอันขาด โดยลุตนิกอวดอ้างว่า “เราเป็นนักมวยปล้ำซูโม่ของโลกนี้ เรามีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด คุณไม่สามารถสู้กับลูกค้าของคุณได้”
ส่วนเบสเซนต์ก็พูดถึงจีนที่ขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐว่า จีนทำผิดพลาดมาก “อเมริกาจะเสียอะไรถ้าจีนขึ้นภาษี เราส่งออกไปจีนแค่ 1 ใน 5 ของที่จีนส่งออกมายังเรา ดังนั้น เขาไม่มีทางชนะ”
แต่นั่นก็เป็นการพูดก่อนวันที่ 9 และ 11 เมษายน เมื่อทรัมป์ประกาศระงับเก็บภาษี 90 วัน ต่อด้วยการยกเว้นภาษีสมาร์ทโฟน เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการตามลำดับ
สเตฟาน บูจ์นาห์ ซีอีโอของ Euronext ตลาดหลักทรัพย์ยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ชี้ว่านับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง นักลงทุนต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอน มีความลำบากที่จะเข้าใจการตัดสินใจที่เปลี่ยนไปมา ดังนั้น ตลาดเงินทั่วโลกจึงหมุนเวียนสินทรัพย์ไปที่อื่น หลังจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีกับทั่วโลก กระแสเงินหนีออกจากสหรัฐและไปลงทุนในยุโรป
“มีความกลัวอยู่ทุกหนแห่ง สหรัฐไม่เป็นที่ยอมรับ มันน่าหดหู่ใจ เพราะสหรัฐที่เราเคยรู้จักในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศที่ยิ่งใหญ่ของโลก ทั้งในแง่มูลค่าและสถาบันแบบเดียวกับยุโรป บัดนี้มีลักษณะคล้ายตลาดเกิดใหม่ ไม่ใช่ตลาดที่พัฒนาแล้ว”
Contact to : xlf550402@gmail.com
Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.