มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดผลทดสอบสีใน ‘ชาไทย’ 15 แบรนด์ดัง พบสีสังเคราะห์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับอาหารทุกตัว ส่อง 3 อันดับพุ่งสูงสุด

เมื่อวันที่ 26 เมษายน เพจ “นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดผลทดสอบ ‘สีในเครื่องดื่มชานมไทย’

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนิตยสารฉลาดซื้อเปิดเผยผลทดสอบสีในเครื่องดื่มชานมไทย” เพื่อเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า และคุ้มครองผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์โครงการเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบสินค้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. )

นิตยสารฉลาดซื้อ ดำเนินการเก็บตัวอย่าง เครื่องดื่มชานมไทย หรือ Thai Milk Tea จากร้านเครื่องดื่มแบรนด์ดัง จำนวน 15 ตัวอย่าง ในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ( ตัวอย่างที่เก็บและส่งทดสอบ ปริมาณ 1 แก้ว ประกอบด้วย ชานมและน้ำแข็ง )

เครื่องดื่มชานมไทย 15 ตัวอย่างที่ทดสอบ แสดงยี่ห้อตามฉลากประกอบด้วย

1.ชาตรามือ (ChaTraMue)

2.คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon)

3.ออล คาเฟ่ (All Café)

4.พันธุ์ไทย (Punthai)

5.อินทนิล (Inthanin Coffee)

6.ทรู คอฟฟี่ True Coffee

7.Fire Tiger (เสือพ่นไฟ)

8.อาริกาโตะ (ARIGATO)

9.โอชายะ (Ochaya)

10.คัดสรร (Kudsan)

11.กาก้า (GAGA)

12.การัน (Karun)

13.ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน

14.ปังชา (Pang Cha)

15.กูโรตีชาชัก

ทั้ง 15 ตัวอย่าง นำส่งวิเคราะห์หาปริมาณสีสังเคราะห์ (สีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับอาหารได้) โดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025

ภาพประกอบ จาก Facebook : นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผลการทดสอบหาปริมาณสีสังเคราะห์ (สีที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับอาหารได้) มีดังนี้

1.พบสีสังเคราะห์ ในทุกตัวอย่าง (เป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับอาหาร)

​2.พบสีสังเคราะห์ ตั้งแต่ 1 – 4 สี ได้แก่ Sunset yellow FCF , Tartrazine , Ponceau 4R และ Carmoisine or Azorubine

​3.พบสีสังเคราะห์ Sunset yellow FCF ทุกตัวอย่าง ปริมาณน้อยที่สุดคือ 7.90 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และปริมาณสุงสุดที่พบ คือ 291.41 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

เครื่องดื่มชานมไทย ที่พบ สีสังเคราะห์ Sunset yellow FCF สูง 3 อันดับแรกคือ

1.ทรู คอฟฟี่ ปริมาณ 291.41 (มก./กก.)

2.กูโรตีชาชัก ปริมาณ 250.20 (มก./กก.)

3.ปังชา ปริมาณ 222.26 (มก./กก.)

โดยก่อนหน้านี้มีกระแสแบน สีสังเคราะห์ Sunset yellow FCF ในต่างประเทศและ “Neurotherapeutics” วารสารวิชาการทางการแพทย์ มีการกล่าวถึงประเด็นของสีสังเคราะห์และสมาธิสั้นในเด็กอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม : เปิดโลกมาก! “ชาไทย” แท้จริงไม่ใช่สีส้ม เกิดจากการใส่สี แถมอาจทำให้เด็กสมาธิสั้น

อย่างไรก็ดี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า สำหรับความเกี่ยวข้องกับภาวะสมาธิสั้นในเด็ก จากผลการศึกษาวิจัยยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่ระบุได้ว่า สีผสมอาหารสังเคราะห์เป็นสาเหตุทำให้เกิดสมาธิสั้นในเด็ก ทั้งนี้ การเลือกซื้อชาในภาชนะบรรจุมาดื่ม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต สังเกตบนฉลากต้องมีเลข อย. ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า มีการแสดงส่วนประกอบของชา

อ่านข่าวเพิ่มเติม : อย.ยัน “ชา” ใส่สีได้ แนะดูฉลากมี อย. ถ้าซื้อแบบชงสำเร็จ สีต้องไม่เข้มฉูดฉาด

ภาพประกอบ

การเฝ้าระวังคุณภาพ มาตรฐานของเครื่องดื่มชาไทยยิ่งมีความจำเป็นในปัจจุบันเพราะกระแสความนิยมบริโภคที่มากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ชามีหลายประเภท ได้แก่ ชาใบ ชาผงสำเร็จรูป และชาปรุงสำเร็จ

ขณะที่การกำกับควบคุมคุณภาพของการผสมสีในชายังมีปัญหาทั้งเรื่องความชัดเจนเรื่องมาตรฐานเกณฑ์ควบคุมสีในชา ปัญหาการแสดงฉลากและมีผลต่อการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงอันตรายของวัตถุเจือปนอาหาร สีสังเคราะห์ว่า “ไม่มีคำว่าปลอดภัยในทางพิษวิทยาของสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ มีแต่คำว่า เสี่ยง กล่าวคือ เสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ซึ่งใช้ในการประเมินด้วยตนเองว่า ยอมรับได้หรือไม่ที่จะเสี่ยงกินสารเจือปนที่ไม่ใช่สารอาหาร”

ข้อแนะนำสำหรับการเลือกชาปรุงสำเร็จในภาชนะบรรจุ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือ

1. เลือกสินค้าที่มีเลข อย.

2. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ กรณีที่มีการใช้สีจะแสดงคำว่า “สีสังเคราะห์ หรือสีธรรมชาติ (INS…หรือ ชื่อของสี)

3. เลือกเครื่องดื่มที่หลากหลายเพื่อลดการได้รับสีผสมอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ

​อย่างไรก็ตามสำหรับการเลือกบริโภค เครื่องดื่มชานมไทย ( Thai milk tea) นิตยสารฉลาดซื้อ มีข้อแนะนำดังนี้

1.บริโภคถ้วยขนาดเล็กก็เพียงพอเมื่อซื้อดื่ม ถ้าทำได้คือ ชงดื่มเอง ให้เลือกเฉพาะไม่มีสีผสมอาหารสังเคราะห์

2.ไม่ดื่มบ่อยเกินไป

3.เลือกชนิดหวานน้อย เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขคือ ลดความหวาน

4 .ไม่แนะนำให้เด็กดื่ม เพราะเด็กมีระบบการขับออกของสารแปลกปลอมที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์

ให้ตระหนักว่า ถ้ามีการใช้สีมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป โอกาสที่สีจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันย่อมเกิดขึ้นได้ และยากที่จะทำนายว่า ผลนั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ เนื่องจากในการประเมินความเป็นพิษของสารเคมีนั้น เป็นการประเมินสารเดี่ยว ไม่เคยมีการประเมินสารที่เป็นของผสม

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.