หลาย ๆ คนอาจจะเริ่มมีอาการปวดขา ไม่ว่าจะเป็นต้นขาหรือบริเวณขาด้านล่าง หลังจากเกิดอุบัติเหตุแผ่นดินไหวแล้วเดินลงบันไดหนีไฟ หรือวิ่งออกจากสถานที่หรือตึกต่าง ๆ อาการเหล่านี้เรียกว่า ”โรคกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลัน“ ครับ เป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้กล้ามขาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บเล็ก ๆ หลาย ๆ จุดในมัดกล้ามเนื้อเดียวกันหรือต่างมัดกล้ามเนื้อกัน
แม้โรคนี้จะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการเรื้อรังได้ หรือในบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงหรือกล้ามเนื้อตายได้ บทความนี้ หมอจะมาพูดถึงวิธีดูแลรักษากล้ามเนื้ออักเสบเบื้องต้นที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองครับ
1. พักการใช้งานกล้ามเนื้อ หลีกเลี่ยงการวิ่งหรือเดินเป็นระยะทางไกล ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือการเคลื่อนไหวที่กระทบกระเทือนบริเวณที่อักเสบ หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีลักษณะวิ่งออกตัวอย่างรวดเร็ว หรือต้องเบรกอย่างรวดเร็ว เช่น แบดมินตัน, เทนนิส, บาสเกตบอล, วิ่ง, ปั่นจักรยาน เป็นต้น
2. ประคบเย็นในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก การใช้ถุงน้ำแข็งหรือเจลเย็นประคบในบริเวณที่อักเสบเป็นเวลา 15-20 นาทีทุก 2-3 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการปวดและบวมได้ อย่าประคบเย็นนานเกินไปหรือวางน้ำแข็งลงบนผิวโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเย็นกัดผิวหนังครับ
3. ประคบร้อนหลังจาก 48 ชั่วโมง เมื่ออาการบวมลดลง สามารถใช้การประคบร้อน เช่น ถุงประคบร้อนหรือแผ่นร้อน เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ และช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น
4. ยืดเหยียดและออกกำลังกายเบา ๆ หลังจากอาการปวดเริ่มบรรเทา ควรยืดกล้ามเนื้ออย่างอ่อนโยนเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ตามปกติ การเคลื่อนไหวเบา ๆ เช่น การเดิน หรือการทำโยคะเบา ๆ สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อได้
5. ใช้ยาทา หรือยาบรรเทาปวด สามารถใช้ยาทา เช่น ยานวดที่มีส่วนผสมของตัวยาแก้อักเสบ หรือบาล์มเพื่อช่วยลดอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อ หากปวดมาก สามารถใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ปรึกษาแพทย์
6. การนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หลังจากอาการอักเสบลดลง การนวดเบา ๆ อาจช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการนวดแรงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่อาการยังรุนแรง ให้หลีกเลี่ยงการนวดโดยผู้ไม่ชำนาญการ เพราะอาจจะทำให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นครับ
แม้ว่ากล้ามเนื้ออักเสบส่วนใหญ่จะสามารถรักษาเองได้ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์
1.อาการปวดรุนแรงขึ้นแม้จะได้พักและรักษาเบื้องต้น
2.มีอาการบวมมากผิดปกติหรือมีรอยช้ำที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
3.มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
4.ไม่สามารถขยับส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บได้ตามปกติ
5.กล้ามเนื้ออักเสบเป็นเวลานานเกิน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ดีขึ้น
สรุป : กล้ามเนื้ออักเสบเป็นภาวะที่สามารถดูแลรักษาได้ด้วยตัวเองโดยใช้หลักการ พัก ประคบเย็น-ร้อน ยืดเหยียด และใช้ยาเมื่อจำเป็น หากดูแลถูกต้อง อาการมักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันถึงสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ หรือได้รับการรักษาจากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมครับ
Contact to : xlf550402@gmail.com
Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.