“นายกฯ” ยันไทยเตรียมแผนระยะสั้น-ยาว รับมือสหรัฐฯรีดภาษีนำเข้าไทยโหด 36% พร้อมตั้งทีมเจรจา เชื่อต่อรองได้ ด้าน “คลัง” ลุยเรียกถกด่วน! หาแนวทางรับมือ เชื่อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน “พาณิชย์” เปิด 15 อันดับสินค้าไทยถูกรีดภาษีอ่วม ย้ำยังมีเวลาเจรจาต่อรอง ขณะที่ “ส.อ.ท.”ถกด่วน! ประเมินผลกระทบอุตสาหกรรมไทย 





เมื่อเวลา 08.10 น วันที่ 3 เม.ย. 68 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6.) ดอนเมือง กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสหรัฐอเมริกาเคาะตัวเลขเก็บภาษีนำเข้า ที่ไทยถูกตั้งภาษี 36% สูงเป็นอันดับต้นๆของอาเซียนว่า  ที่จริงแล้วเราต้องปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ากับสหรัฐอเมริกา และตั้งคณะทำงานเรื่องการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราจะต้องมีการเตรียมทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นต้องดูว่าเราสามารถพูดคุยเจรจาต่อรอง เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ส่งออก และจะเยียวยาหรือช่วยอะไรได้บ้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ กำลังหาข้อสรุปเพราะตัวเลข 36% เพิ่งออกมา 



นายกฯ กล่าวต่อว่า  ส่วนมาตรการต่างๆได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งมาตรการเบื้องต้นและสิ่งที่กำลังจะคุยกันต่อ  เพราะที่จริงตัวเลขเฉลี่ยภาษีอยู่ที่ 9% แต่มีจำกัดว่าแต่ละประเภทสินค้าไม่ให้เกินเท่าไร เช่น ข้าวโพด  จึงมีการนำตัวเลขนั้นมาเป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงต้องมาดูว่าสามารถบาลานซ์ อะไรได้บ้าง ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ภายหลังมีตัวเลขออกมา แต่ก็มีการพูดคุยกันมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตั้งทีมเจรจา จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้ 



เมื่อถามว่า ใครจะเป็นผู้นำในการเจรจา นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในการดูแลของปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนที่จะไปพูดคุย ต้องดูด้วยว่าจะไปพูดคุยกับใคร ในระดับไหน เนื่องจากมีหลายขั้น แต่ในระดับทำงานก็จะให้ปลัดไปพูดคุยกับทางนั้น รวมถึงรัฐมนตรี 



เมื่อถามต่อว่า ตัวเลขที่ออกมา ได้มีการประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยมาน้อยแค่ไหนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรามีมาตรการ ที่จะดูแลผู้ประกอบการ แต่เรื่องของความเสียหายคิดว่า ยังสามารถเจรจาได้อยู่ เพราะตัวเลข 36% ยังไม่ได้เปิดใช้งาน (Activate )มีแค่การเปิดใช้งานบางหัวข้อ พอได้ตัวเลขมาถ้ามีการต่อรองและปรับโครงสร้างภาษี ให้สมเหตุสมผล ยิ่งสมัยนี้เป็นแบบ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ( More for Iess  - less for More ) ไม่ได้เป็นแบบเดิมที่จะมาเยอะใส่กัน หรือน้อยก็ต้องน้อยทั้งคู่ เป็นเรื่องการต่อรองกัน ซึ่งอันนี้เดี๋ยวจะลงดีเทล 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้ถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ในอัตรา 10% และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) กับหลายประเทศ โดยไทยโดนเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% ติดอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ว่า ยอมรับว่าอัตราภาษีที่ออกมาสูง และค่อนข้างเป็นกังวล แต่เบื้องต้นเชื่อว่าคงไม่ได้เป็นในทุกผลิตภัณฑ์ที่ถูกปรับขึ้นภาษีในระดับดังกล่าวทั้งหมด



"วันนี้กระทรวงการคลังจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด่วน เพื่อพิจารณาผลกระทบ รวมถึงหามาตรการรองรับ โดยตัวเลข 36% ที่ออกมานั้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะรวมทุกอย่าง เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ เลยดูแล้วค่อนข้างสูง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งทำการบ้าน จะเจรจาอย่างไร โดยเบื้องต้นประเมินว่าเนื้อภาษีจริง ๆ น่าจะเฉลี่ยแค่ 9% แต่นอกนั้นจะเป็นการรวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ คงไม่ใช่อัตราภาษีในวงกว้างทั้งหมด โดยจะต้องไปดูว่าตัวเลขนั้นคิดคำนวณอย่างไร มีค่าใดบ้าง ต้องไปคุยด้วยความเข้าใจ การเจรจาคงไม่ได้เป็นลักษณะที่ทำอะไรรุนแรง คุยด้วยความเข้าใจว่า มีสินค้าตัวใดที่รู้สึกไม่เป็นธรรม ปรับแก้ได้หรือไม่ และต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักว่า มีผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการอย่างไร" นายจุลพันธ์ กล่าว



นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในวิกฤติต้องมองหาโอกาส ซึ่งประเด็นนี้อาจทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนภาคการผลิต ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตอยู่ ก็อาจจะเกิดประโยชน์และเกิดการแข่งขันได้ ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง



อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าคงไม่ต้องรีบเร่งออกมาตรการอะไรในขณะนี้ เพราะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด อีกทั้งต้องดูผลกระทบต่อรายอุตสาหกรรมว่าจะมีผลกระทบอย่างไร รวมถึงภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป



ส่วน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36-37% ว่า ถือเป็นอัตราที่สูงมากเกินความคาดหมาย แต่ไม่ต้องห่วงเพราะไทยมีคณะทำงานที่เตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ ไว้แล้ว และมีความหวังว่าเราจะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงได้ ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 3% หรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้



"ไทยพร้อมเจรจาตลอดเวลา รอแค่ว่าสหรัฐฯ จะรับนัดเมื่อไร แต่การขึ้นภาษีครั้งนี้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่เราจะเจรจาให้สหรัฐฯ ลดภาษีให้ และมีความหวังว่าจะสำเร็จ" นายพิชัย กล่าว



สำหรับสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากนั้นจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง ๆ โดย 15 สินค้าแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น



ด้าน  นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ ในวันพรุ่งนี้ (4 เม.ย.68) เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม

Contact to : xlf550402@gmail.com


Privacy Agreement

Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.