รู้จัก ‘สารเร่งเนื้อแดง’ ในเนื้อหมู ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร พร้อมส่องความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจนำเข้าจากสหรัฐหรือไม่ ?
หลังจากรัฐบาลเปิดเผยรายชื่อทีมนโยบายที่จะมาต่อสู้กับภาษีทรัมป์ได้ความว่า พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีนำทัพไปเจรจากับทรัมป์ด้วยตัวเองในเร็ว ๆ นี้
ท่ามกลางข้อกังวลของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความอืดอาดของรัฐบาลเมื่อเทียบกับการรับมือเชิงรุกของประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งทำให้ทางออกที่หาแนวทางการรับมือไว้ล่วงหน้าแรมเดือนนั้นไม่ได้ลดทอนความไม่สบายใจลงได้
หนำซ้ำแนวทางที่แวบออกมาให้เห็นตามมาด้วยข้อกังขามากมาย หนึ่งในนั้น คือ การนำเข้าหมูจากสหรัฐที่เป็นเหตุให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูออกมารวมตัวกันยื่นหนังสือถึงนายกฯให้ทบทวนการตัดสินใจก่อนที่จะเกิดผลกระทบกับเกษตรกรกว่า 2 แสนราย รวมถึงประชาชนที่มองว่า หมูที่นำเข้าจากสหรัฐนั้นมีการใส่สารเร่งเนื้อแดงเข้ามาด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหมูเนื้อแดงที่มาจากการใส่ “สารเร่งเนื้อแดง” นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเผชิญหน้าหลายครั้ง แต่อันตรายของมันมาจากอะไร และจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ?
ประชาชาติธุรกิจ พาไปทำความรู้จัก “สารเร่งเนื้อแดง” พร้อมผลกระทบต่อสุขภาพ
สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ (B-agonist) จัดอยู่ในกลุ่มของ Adrenergic drug มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ขยายหลอดลม สลายไขมัน เพิ่มระดับกลูโคสในเส้นเลือด จึงมีการนำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดการสะสมไขมัน และเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ
สังเกตได้จากสัตว์ที่ได้รับสารนี้อย่างหมูจะมีลักษณะมัดกล้ามนูนเด่นกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก สันหลัง หรือบริเวณหัวไหล่ ถ้าได้รับปริมาณสูงมาก อาจมีอาการสั่นตลอดเวลา
หากกินเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ
บางรายมีอาการเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ นอกจากอาการดังกล่าว กรมอนามัยยังให้ข้อมูลอันตรายของสารเร่งเนื้อแดง ดังนี้
1. อันตรายสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ยา และคนที่เป็นโรคหัวใจที่อาจถูกกระตุ้นด้วยสารตัวนี้ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ อีกทั้งหมูที่ถูกเลี้ยงโดยสารเร่งเนื้อแดงยังตรวจพบยาปฏิชีวนะประเภทคลอแรมเฟนิคอล และยา กลุ่มไนโตรฟูแรน ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
2. สถาบันโภชนาการระบุอีกว่า ไตของคนที่กินเนื้อต้องทำงานมากกว่าคนกินผักถึง 3 เท่า เพื่อขับสิ่งสกปรก อาทิ ยูเรีย แอมโมเนีย และกรดยูริกและสารพิษในเนื้อที่กินเข้าไป แม้ว่าขณะอยู่ในวัยหนุ่มสาวมักไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่พออายุมากขึ้นจะเห็นผลชัดเจน ก่อให้เกิดโรคร้าย เช่น ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งและมีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงมาก ๆ สำหรับผู้ที่กินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวัน
วิธีสังเกตุเนื้อสัตว์ก่อนเลือกซื้อ
1. เนื้อหมูที่มีสารเร่งจะมีสีแดงคล้ำกว่าปกติ
2. เนื้อที่หั่นทิ้งไว้จะมีลักษณะเนื้อค่อนข้างแห้ง แต่เนื้อปกติเมื่อหั่นทิ้งไว้จะพบน้ำซึมออกมาบริเวณผิว
3. ส่วนของเนื้อสุกรสามชั้นที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง จะมีปริมาณเนื้อสูงถึง 3 ส่วนต่อมัน 1 ส่วน (25%) มีลักษณะเนื้อแดงมากกว่ามัน แต่เนื้อปกติจะมีเนื้อแดง 2 ส่วน ต่อมัน 1 ส่วน (33%)
4. เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีมันหนาบริเวณสันหลัง เมื่ออยู่ในลักษณะตัดขวาง จะมีมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ทางแม่ทัพในศึกการค้ากำแพงภาษีจากโลกที่หนึ่งครั้งนี้ พิชัย ชุณหวชิร ได้ออกมาเปิดเผยถึงการรับมือของรัฐบาล รวมถึงข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐที่นอกจากจะสร้างความกังวลให้กับเกษตรกรจนต้องออกมายื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าเพื่อป้องกันผลกระทบต่อรายได้ภายในประเทศแล้ว
ข้อวิตกนี้ยังส่งมาถึงผู้บริโภคที่เป็นกังวลว่า จะได้กินเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นายพิชัยกล่าวผ่านรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ ว่า มีข้อสังเกตจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยว่า เนื้อสัตว์ที่บริโภคในอเมริกามีความชอบไม่เหมือนกัน หลายคนทั่วโลกชอบกินเนื้อสีแดง ๆ ดูสด เพราะเขาอาจใส่สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งก็เป็นคำถามต่อมาว่า กินแล้วจะเกิดผลข้างเคียงหรือไม่ ?
นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างการแก้ปัญหาของต่างประเทศว่า “หลายประเทศเขาแก้ไขยังไงรู้ไหมครับ เขาบอกก็เข้ามา อาจจะมีหรือไม่มีปัญหา ถ้าคุณไม่ซื้อ เอาเข้ามาก็ไม่มีประโยชน์ ก็ขายไม่ได้ เป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ต้องตัดสินใจ”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะบอกว่าไม่มี ก็ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ซะทีเดียว จึงจำเป็นต้องให้กระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาทบทวนอีกรอบว่า จะตัดสินใจอย่างไร และจะแนะนำประชาชนอย่างไรดี
ข้อมูลจาก สภาองค์กรผู้บริโภค, สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และ สสส.
Contact to : xlf550402@gmail.com
Copyright © boyuanhulian 2020 - 2023. All Right Reserved.