พระราชประวัติ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษาครบ 20 ปี วันที่ 29 เมษายน 2568 เจ้าฟ้าผู้เลื่อมใสพระบวรพุทธศาสนา
เรียบเรียงพระราชประวัติจากข่าวในพระราชสำนัก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เจ้าฟ้าผู้ทรงสนพระทัย และเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา
โดยเมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทยทุกครั้ง จะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศล และทรงสนทนาธรรม กับสมเด็จพระสังฆราช ทรงสนทนาธรรมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นการส่วนพระองค์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และวัดป่า ในต่างจังหวัด
พระราชประวัติ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ เจริญพระชันษาครบ 20 ปี วันที่ 29 เมษายน 2568 เจ้าฟ้าผู้เลื่อมใสพระบวรพุทธศาสนา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 ในเวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อแรกประสูติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเวลา 19.00 น.
เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อแรกประสูติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขา พระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548
และพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ทองคำ โดยพระนามของพระองค์นั้น แปลว่า “ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง” โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “His Royal Highness Prince Dipangkorn Rasmijoti”
อนึ่ง คำว่า “ทีปังกร” มีความหมายอันเป็นมงคลในพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นพระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในจำนวน 28 พระองค์ ซึ่งก็คือพระทีปังกรพุทธเจ้า
เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ 1 เดือน ได้มีพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และเมื่อทรงเจริญพระชันษาครบ 1 ปี ในวันที่ 29 เมษายน 2549 กรมธนารักษ์จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พร้อมอัญเชิญพระรูปของพระองค์ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย จำหน่ายให้ประชาชนเป็นที่ระลึก
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์และเฉลิมพระนาม “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมารการศึกษา” ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ความว่า…
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ
เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นพระราชโอรส ได้ทรงเจริญวัยตั้งพระทัยศึกษา และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยกุมารได้อย่างดียิ่ง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกหมู่เหล่า สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาและเฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกร รัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร กับพระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1
ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ”
ทรงมีพระเชษฐภิคินีต่างพระมารดา 2 พระองค์ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทรงสนพระทัยด้านกีฬา อาทิ กิจกรรมงานสัปดาห์รักการอ่าน ทรงร่วมการแสดงในงานของโรงเรียน
ทรงสนพระทัยในการบินตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเสด็จไปประทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในรายการหนูน้อยจ้าวเวหา โดยทรงลองฝึกการบังคับเครื่องบินชนิดต่าง ๆ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงศึกษา ณ โรงเรียนวอลดอร์ฟชูเล่ อิซาทอล (Frei Waldorfschule Isartal) เมืองเกเร็ตสรีส (Geretsried) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทย ทรงร่วมกิจกรรมจิตอาสาในโครงการจิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ทรงปฏิบัติภารกิจจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เสด็จฯ ไปประทานสิ่งของแก่ตัวแทนจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ ทรงประกอบอาหารประทานให้แก่จิตอาสาฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ด้วยการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปทรงเยี่ยมราษฎร
เพื่อติดตามการดำเนินงานของโครงการจิตอาสาพระราชทาน และโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ อีกทั้งทรงรับเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ สโมสรผู้รักสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ สถาบันการศึกษา การแพทย์ และการสาธารณสุข อัญเชิญพระนามเป็นชื่อ อาทิ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์, ห้องสมุดทีปังกรรัศมีโชติ, อุทยานการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ ทีปังกรรัศมีโชติ, อาคารทีปังกรรัศมีโชติ โรงพยาบาลวชิระ, อาคารทีงปังกรรัศมีโชติ ซึ่งเป็นศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
สำหรับพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ อาทิ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปทรงเยี่ยม และทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงสนพระทัย และเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา โดยเมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทยทุกครั้ง จะเสด็จไปบำเพ็ญพระกุศล และทรงสนทนาธรรม กับเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงสนทนาธรรมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นการส่วนพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านศาสนา อาทิ เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน อาทิ
วันที่ 14 ตุลาคม 2563 บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสาราม และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วันที่ 27 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วันที่ 29 ตุลาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุวรรณดาราราม อ.พระนครศรีอยุธยา และวัดนิเวศธรรมประวัติ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
เสด็จฯ ขึ้นพระวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง บูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ และพระพุทธรูปปางประสูติ จากนั้น ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะ พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6, พระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แล้วทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง บูชาพระป่าเลไลยก์
อนึ่ง เมื่อปี 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ ลักษณะเป็นทรงระฆังคว่ำ ครอบพระเจดีย์องค์เดิมมีขนาดความสูง 120 เมตร แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “พระปฐมเจดีย์” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้บูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น จึงถือว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลในพระองค์
สำหรับพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปสำคัญที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ชาวนครปฐม มีความเป็นมา เมื่อ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ
เมื่อพระองค์เสด็จฯ ผ่านเมืองโบราณศรีสัชนาลัย (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย) พระองค์ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีลักษณะสวยงาม เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธรูปองค์นี้ลงมายังกรุงเทพมหานคร และให้หาช่างปั้นฝีมือดีบูรณะให้เต็มองค์ โดยให้เททองหล่อองค์พระพุทธรูป พร้อมทั้งจัดพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปองค์นั้นขึ้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนฯ (หรือวัดโพธิ์)
เมื่อหล่อเสร็จ พระพุทธรูปองค์นี้มีความสูงตั้งแต่พระบาทถึงพระเกศา (ผม) อยู่ที่ 12 ศอก 4 นิ้ว คิดเป็นเมตร จะมีความสูงอยู่ที่ 7.42 เมตร มีลักษณะสมบูรณ์ทุกประการ ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วิหารฝั่งทิศอุดร (ทิศเหนือ) ขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ตกแต่งประกอบองค์พระพุทธรูปและประดิษฐานเรียบร้อยในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2466 จึงพระราชทานพระนามว่า “พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิรวุธราชบูชนิยบพิตร์”
อีกทั้งยังทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม ว่าให้นำพระบรมสรีรังคารของพระองค์ส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ที่หลังองค์พระอีกด้วย
ถึงแม้ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร จะทรงศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนี แต่เมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทย จะทรงเสด็จไปถวายสักการะเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อาทิ
วันที่ 28 ตุลาคม 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จไปถวายสักการะเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ทรงสนทนาธรรม
และทรงสดับพระโอวาทที่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระราชทานถวายวิสัชนาสนองพระปุจฉา เรื่องหลักความเชื่อของแต่ละศาสนา โดยความเชื่อหมายถึงการยอมรับว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือดำรงอยู่จริง ซึ่งอาศัยประสบการณ์ตรง การไตร่ตรอง หรือการอนุมาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงซักถาม เรื่องที่ทรงศึกษาในต่างประเทศ ด้วยทรงห่วงใย
ในโอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระนิรันตรายและสำรับหนังสือเป็นที่ระลึก และทรงนำเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธรูปหลวงพ่อนาคภายในพระเจดีย์ และพระรูปที่บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยุคที่ 4, สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชอุปัธยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานในซุ้มคูหาพระเจดีย์
วันที่ 30 ธันวาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงบำเพ็ญพระกุศลเนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พุทธศักราช 2568 และทรงสนทนาธรรม กับเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ ตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
โอกาสนี้ ทรงสนทนาธรรม กับสมเด็จพระสังฆราช พระปุจฉา ในเรื่องที่ทรงสนพระทัย ในเรื่องพระพุทธศาสนา อาทิ ความแตกต่างของแต่ละศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับพุทธศาสนา และศาสนามีส่วนช่วยในการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันอย่างไร
เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ถวายวิสัชนา เรื่องสถาบัน พระมหากษัตริย์กับพุทธศาสนา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงนำคำสอนในทางพุทธศาสนา มาเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ ในการทรงปกครองบ้านเมือง หรือที่เรียกว่าทศพิธราชธรรม ทรงเป็นพุทธมามกะ และองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก
สำหรับการสนทนาธรรมกับพระเถระผู้ใหญ่ในต่างจังหวัด สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จฯไปทรงปฏิบัติธรรม หลายวาระ อาทิ
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเสด็จฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2560 ทรงสนทนาธรรมกับ พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร) พระภิกษุชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระบรมราชานุญาต ให้แปลงสัญชาติไทย เป็นกรณีพิเศษ ด้วยเพราะเคร่งครัดในวินัย แตกฉานในพระธรรมคำสอน
วันที่ 18 มีนาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ และแต่งตั้งพระอภิบาลประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติมหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับดังกล่าวระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งตั้ง ข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ
1 ในรายชื่อที่ระบุในประกาศ คือ พลอากาศเอก ชาญชาย เกิดผล รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ รักษาราชการผู้บัญชาการสำนักงานผู้บังคับบัญชา หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นพระอภิบาลและผู้ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติมหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563