แพทย์เผย โรคแอนแทรกซ์ ติดได้จากการหายใจเอา ‘สปอร์เชื้อ’ เข้าร่างกาย ชี้ ฝังในดินไปนานเป็น 10 ปี ตีกรอบรัศมี 5 กม. เจอวัวเสี่ยงติดโรค 124 ตัว
วันที่ 2 พ.ค.2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.วีระวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทยทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค แถลงกรณีโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ว่าโรคแอนแทรกซ์ หรือสมัยก่อนเรียกว่าโรคกาลีเป็นโรคที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เล่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น ซึ่งจะมีอาการแสดงของสัตว์ป่วย มีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร หรือมีการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมนุษย์สามารถรับเชื้อจากสัตว์ได้ 3 ทางหลัก คือ
1.การสัมผัส ชำแหละเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วมีเชื้อแอนแทรกซ์อยู่ ผ่านบริเวณที่มีบาดแผล หลังจากรับเชื้อประมาณ 7 วันจะเริ่มแสดงอาการ เริ่มมีแผล ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต 2.การรับประทานเนื้อสัตว์ป่วยแบบดิบ โดยจะติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีแผลในลำไส้ มีอาการปวดท้องคล้ายอาหารเป็นพิษ มีไข้สูง หรือติดเชื้อในกระแสเลือด และ 3.การติดเชื้อจากการหายใจเอาสปอร์เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่เจอได้น้อย โดยสปอร์เชื้อสามารถฝังตัวอยู่ตามพื้นดินที่สัตว์ป่วยอาศัยได้นานเป็นเดือนหรือหลายปี
“หากเราไปทำให้สปอร์เชื้อที่อยู่ในดินหรืหญ้ากระจายออกมา แล้วสูดเข้าไปในร่างกายเชื้อก็จะเข้าไปในปอด ก็จะเกิดภาวะแอนแทรกซ์ที่ปอดได้ ดังนั้นมี 3 ทางในการรับเชื้อคือ สัมผัส รับประทาน และหายใจ ดังนั้นพื้นที่ จ.มุกดาหาร และจังหวัดทางภาคอีสานจะต้องระมัดระวัง ให้สังเกตสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัว ควาย แพะ แกะ หากมีอาการเจ็บป่วยผิดปกติให้แจ้งปศุสัตว์จังหวัดมาตรวจสอบ ส่วนถ้าท่านป่วยก็ให้รีบมาพบแพทย์ และแจ้งประวัติเสี่ยง เช่น การชำแหละหรือรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ” นพ.วีระวัฒน์ กล่าว
นพ.วีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำประชาชนที่จะต้องสัมผัสกับเนื้อสัตว์ ต้องจะต้องใส่ถุงมือป้องกัน ล้างมือให้สะอาด ส่วนการรับประทานอาหารก็ให้ปรุงสุกเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม การรักษาหลังติดเชื้อแอนแทรกซ์ จะให้ยาปฏิชีวนะ และสามารถให้ยาป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคหลังการสัมผัสได้ด้วย สำหรับสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ ในจ.มุกดารหาร ถือว่าเป็นโรคระบาดแล้ว เพราะมีผู้ป่วยมากกว่า 1 รายขึ้นไป แต่ยังย้ำว่าเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ใช่คนสู่คน
โดยจ.มุกดาหาร มีผู้ป่วยสะสม 2 รายในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งมีประวัติการสัมผัสชำแหละเนื้อวัว ขณะเดียวกัน มีกลุ่มเสี่ยงจากการสัมผัสชำแหละเนื้อวัว ผู้รับประทานเนื้อดิบ และ ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ชำแหละเนื้อ รวม 638 ราย และทุกรายได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อแล้ว ทั้งนี้ การดูแลสัตว์ในพื้นที่เสี่ยงนั้น มีการจำกัดวงของวัวในรัศมี 5 กิโลเมตร พบว่า มีวัว 1,222 ตัว จึงได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไปแล้ว ส่วนวัวที่เข้าข่ายสงสัยป่วยอีก 124 ตัว ได้ทำการฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแล้ว
ด้านสพ.ญ.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย นายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า ข้อมูลสำหรับวัวตัวที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์นั้น จากการสอบสวนโรคร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด พบว่า เป็นวัวในพื้นที่จ.มุกดาหาร ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อหาสปอร์ของเชื้อ ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำประชาชนว่า หากเจอสัตว์ที่ตายผิดปกติ ห้ามผ่าซากโดยเด็ดขาด นายอำเภอดอนตาล ได้มีการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์และเนื้อสัตว์ออกนอกพื้นที่ แต่ในการรับประทานเนื้อสัตว์นั้นสามารถทานได้แต่ต้องทำให้สุก และรับประทานเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะจะมีมาตรฐานในการเลี้ยง
สพ.ญ.เสาวพักตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการติดเชื้อแอนแทรกซ์ในสัตว์นั้น เกิดขึ้นได้กับสัตว์ชนิดอื่นด้วย แต่ในวัว ควาย แพะ แกะ จะมีความไวมากกว่า จึงติดเชื้อได้ง่าย แต่หากเป็นหมู แมว หมา จะมีการทนทานมากกว่า รับเชื้อมาก็ไม่เป็นอะไร ไม่แพร่เชื้อออกไป นอกจากนั้นยังเกี่ยวกับความนิยมของการบริโภคอีกด้วย ทั้งนี้การเฝ้าระวังมีคนจะดำเนินการไปอย่างน้อย 60 วัน แต่ในสัตว์จะมีการให้วัคซีนและเฝ้าระวังต่อเนื่อง 5 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสปอร์เชื้อ เพราะสามารถอยู่ในพื้นที่ได้เป็น 10 ปี
“ความน่ากังวลคือดินบริเวณที่สัตว์ตาย เพราะจะมีเลือดที่มีเชื้อแอนแทรกซ์ออกมา เป็นจุดอันตราย ฉะนั้นทางปศุสัตว์ต้องมีการกลบฝังแล้วใช้ปูนขาวกลบ ส่วนปุ๋ยคอก หรือมูลจะไม่ใช่ทางที่เชื้อออกมา ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีความน่ากังวลเท่ากับพื้นที่ที่มีเลือดสัตว์ออกมา สปอร์เชื้อ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะมีน้ำหนักประมาณหนึ่ง ทำให้ไม่ฟุ้งกระจาย ส่วนใหญ่จะตกบนพื้นดิน ดังนั้นการระมัดระวังคือ การสัมผัสหญ้าดินในพื้นที่ที่มีสัตว์ตาย และระวังบาดแผลตามผิวหนังที่สปอร์จะเข้าไปได้ “สพ.ญ.เสาวพักตร์ กล่าว
อ่านข่าว ตายแล้ว 1 มุกดาหารผวาโรคแอนแทรกซ์ เตือนงดกินเนื้อสัตว์ดิบ คุมเข้มพื้นที่ใกล้ชิด
อ่านข่าว เจอเพิ่มอีก 1 ราย ติดเชื้อ โรคแอนแทรกซ์ เป็นเพื่อนผู้เสียชีวิตรายแรก ผู้สัมผัสโรคพุ่ง 638 คน