เปิดรายได้ 2 สุกี้ดัง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ และ ‘สุกี้ MK’ ก่อนเปิดศึกสงครามราคา สุกี้บุฟเฟ่ต์ ขณะเดียวกันต้องต่อสู้ในสมรภูมิร้านอาหารที่มีแนวโน้มโตชะลอ
ไม่กี่วันมานี้ แบรนด์ร้านอาหาร 2 แบรนด์ คือ MK Restaurants (สุกี้ MK) และสุกี้ตี๋น้อย ประกาศสงครามราคาครั้งใหม่ โดยสุกี้ MK จัดโปรโมชั่นสุกี้ราคาบุฟเฟ่ต์ ราคาสุทธิคนละ 299 บาท เฉพาะในบิ๊กซี โลตัส และสาขาที่ร่วมรายการ ส่วนสุกี้ตี๋น้อย จัดโปรโมชั่นลดราคาฉลองผู้ติดตาม 1 ล้านคน ลดราคาบุฟเฟ่ต์ เหลือ 199 บาท (ไม่รวมเครื่องดื่มและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
อย่างไรก็ดี ตลาดร้านอาหารในวันนี้ ทั้ง 2 แบรนด์ จนถึงแบรนด์อื่น ๆ และร้านเล็ก ๆ ตามชุมชน ต่างต้องเจอความท้าทายในการทำธุรกิจและต่อสู้ในสมรภูมินี้ ทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และตลาดนักท่องเที่ยวที่เสี่ยงไม่เติบโต
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนดูรายได้ ผลประกอบการของทั้ง 2 แบรนด์สุกี้นี้ ก่อนเปิดศึกสงครามราคา
สำหรับสุกี้ MK ดำเนินการในนามบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยข้อมูลผลประกอบการตามที่แจ้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นดังนี้
MK ระบุเพิ่มเติมในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2568 โดยระบุว่า ในไตรมาส 1 ของปี 2568 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 3,541 ล้านบาท ลดลง 405 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนรายได้จากการขายและบริการในแต่ละช่องทางมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาจากช่องทางรับประทานที่ร้านเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 84 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด
ส่วนยอดขายสาขาเดิมก็ได้ปรับลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในธุรกิจร้านอาหาร
ทั้งนี้ MK Group ในปัจจุบัน มีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ในมือถึง 12 แบรนด์ ได้แก่ ร้านเอ็มเค สุกี้, ร้านเอ็มเค โกลด์, ร้านเอ็มเค ไลฟ์, ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ, ร้านฮากาตะ ราเมน, ร้านมิยาซากิ เทปปันยากิ, ร้านแหลมเจริญ ซีฟู้ด, ร้านอาหารไทย ณ สยาม, ร้านอาหารไทย เลอ สยาม, ร้านเลอ เพอทิท และร้านบิซซี่ บ็อกซ์ ร้านฮิคินิคุ โตะ โคเมะ
ขณะที่บริษัทซึ่ง “เอ็มเค” ถือหุ้นอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท เอ็ม เค อินเตอร์ฟู้ด จำกัด (MKI) ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ และบริษัท คาตาพัลท์ จำกัด (CTP) ดำเนินการลงทุนธุรกิจร้านอาหาร โดยถือหุ้นในบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด (LCS) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด มีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 65%
ช่วงที่ผ่านมา สุกี้ MK มีการปรับตัวในธุรกิจอาหาร ตั้งแต่การเปิด MK Buffet สาขาสุกี้บุฟเฟ่ต์เต็มรูปแบบ พัฒนาและจำหน่ายน้ำจิ้มสุกี้ ตามช่องทางโมเดิร์นเทรด และการเปิดเมนูใหม่ ‘สุกี้ผัดแห้งหม้อแดง’ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการแนะนำของผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก
สุกี๋ตี๋น้อย ดำเนินการในนามบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลประกอบการของบริษัทดังนี้
ปี 2563
ปี 2564
ปี 2565
ปี 2566
ปี 2567
ขณะที่รายได้ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ตามข้อมูลที่ Jaymart Group (JMART) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า สุกี้ตี๋น้อย มีกำไรสุทธิ 271 ล้านบาท โดย JMART ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น BNN จำนวน 79 ล้านบาท (หลังหักการปันส่วนราคาซื้อหรือ Purchase Price Allocation)
ทั้งนี้ JMART ถือหุ้น บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย (Suki Teenoi) อยู่ในสัดส่วน 30% และแบรนด์ สุกี้ตี๋น้อย ได้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับกลุ่มบริษัทเจมาร์ทเสมอมา เช่น การนำคะแนนสะสมแลกเป็นค่าบุฟเฟต์ตามที่กำหนด การโฆษณาผ่านศูนย์การค้าชุมชน และการแจก Gift Voucher สุกี้ตี๋น้อย แทนคำขอบคุณลูกค้า เป็นต้น
สำหรับร้านสุกี้ตี๋น้อย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 มีสาขา Suki Teenoi ทั้งหมด 82 สาขา Teenoi BBQ (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง) 2 สาขา และ Teenoi Express (บุฟเฟต์พรีเมียม) 1 สาขา
โดยในไตรมาส 1/2568 ที่ผ่านมา Suki Teenoi ได้เปิดสาขาเพิ่มขึ้นจำนวน 4 สาขา โดยสาขาที่เปิดเพิ่มเป็นสาขาที่ขยายออกไปต่างจังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก บุรีรัมย์ หนองคาย และนครสวรรค์ ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการค่อนข้างหนาแน่น และได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี
ด้วยแนวคิดของการให้บริการที่เข้าถึวความต้องการของลูกค้าที่อยากทานสุกี้ ชาบู ที่มีราคาคุ้มค่าต่อการบริโภค นอกจากนี้ร้านสุกี้ตี๋น้อย ยังได้ร่วมมือกับทาง JAS Asset เปิด Teenoi BBQ เพิ่มขึ้น 1 สาขา ที่ศูนย์การค้าชุมชน Jas Green Village คู้บอนในพื้นที่ของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในปี 2568 โตชะลอลง จากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเสี่ยงไม่โต คาดว่ามูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 646,000 ล้านบาท เติบโต 2.8% จากปี 2567 (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่เติบโต 4.6% หรือมีมูลค่า 657,000 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2567)
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 562,000 ล้านบาท เติบโต 3.0% จากปี 2567.กลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full service restaurant) เติบโตต่ำกว่ากลุ่มอื่น สำหรับธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) ในปี 2568 คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่ 84,200 ล้านบาท เติบโต 1.9% จากปี 2567 กลุ่มเบเกอรี่ยังเติบโตดีจากความหลากหลายประเภทของเบเกอรี่และร้านค้าที่มากขึ้น
แต่การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่มที่สูง เทรนด์ของร้านอาหารและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ขณะที่ต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารผันผวนในระดับสูง แต่การปรับราคาทำได้จำกัด ส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรของผู้ประกอบการ
การปรับลดคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ
1. เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอลงกระทบกำลังซื้อรวมถึงค่าใช้จ่ายในร้านอาหาร แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง สร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม
2. ภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้เสี่ยงไม่เติบโต ในช่วงต้นปี 2568 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเผชิญกับปัจจัยลบกระทบการเติบโต สะท้อนได้จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 พฤษภาคม 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยหดตัว 1% (YoY) หรือมีจำนวน 12.9 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่คนไทยเที่ยวในประเทศแม้ยังมีทิศทางขยายตัวแต่จากปัจจัยเศรษฐกิจทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มระมัดระวังการใช้จ่าย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมีปัจจัยสนับสนุนจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการทานอาหารนอกบ้านและการสั่งมารับประทานมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาทำตลาด การขยายสาขาของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารยังได้จัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดร่วมกับพันธมิตรอย่างแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery Application) เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้และกระตุ้นยอดขาย